ภาษาถิ่นตากใบ ภาษาถิ่นตากใบ (ไทยตากใบ) หรือภาษาเจ๊ะเห เป็นอีกกลุ่มภาษาหนึ่งที่คนในจังหวัดนราธิวาสใช้สื่อสารกัน ส่วนใหญ่ใช้พูดกันในหมู่คนที่อยู่บริเวณอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และคนไทยที่อยู่ตามเขตอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนราธิวาส ภาษาไทยตากใบนี้เจ้าของภาษาจะเรียกภาษาของตนเองว่า ภาษาเจ๊ะเห โดยเหตุที่ภาษานี้พูดกันโดยคนส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส นักภาษาจึงเรียกชื่อภาษานี้ตามชื่ออำเภอว่า ภาษาไทยตากใบ และโดยเหตุที่ภาษาไทยตากใบมีระบบเสียง และระบบคำที่ค่อนข้างจะเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมากที่สุดซึ่งไม่เหมือนกับภาษาไทยถิ่นใต้ คือ มีหน่วยเสียงพยัญชนะ ๒๒ เสียง มีหน่วยเสียงสระเดี่ยว ๑๘ เสียง หน่วยเสียงสระประสม ๓ เสียง และหน่วยเสียงวรรณยุกต์ ๖ เสียง เนื่องจาก ภาษาถิ่นตากใบอยู่ใกล้ชิดกับภาษามลายูถิ่น และภาษาไทยใต้ จึงมีคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาทั้งสองมาใช้พอสมควร เมื่อเปรียบเทียบคำศัพท์ตากใบกับภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาตากใบเป็นภาษา หลายพยางค์ ส่วนภาษาไทยถิ่นใต้ เป็นภาษาพยางค์เดียวภาษาถิ่นใต้อำเภอตากใบ เป็นภาษาที่มีท่วงทำนองไพเราะ นุ่มนวล ไม่แข็งกระด้างเหมือนภาษาไทยถิ่นโดยทั่วไป นักภาษาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ภาษาไทยถิ่นใต้ อำเภอตากใบในปัจจุบันน่าจะพัฒนามาจากภาษาไทยที่ใช้ในจังหวัดสุโขทัยในอดีต ทั้งนี้ เพราะการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันของชาวตากใบยังคำเก่าปะปนอยู่ ลักษณะของภาษา ปัจจุบันมีคนพูดภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงตากใบ (เจ๊ะเห) มีผู้พูดภาษานี้คือชาวไทยพุทธในอำเภอมายอ อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอไม้แก่น ในจังหวัดปัตตานี ในอำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอศรีสาคร อำเภอยี่งอ อำเภอเมือง อำเภอตากใบ อำเภอระแงะ อำเภอจะแนะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอแว้ง อำเภอสุคิรินในจังหวัดนราธิวาส [1] รวมไปถึงชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยที่อาศัยอยู่ในรัฐกลันตัน เช่น เมืองตุมปัต เมืองปาซีร์มัส เมืองโกตาบารู และเมืองปาซีร์ปูเตะห์ เป็นต้น จากการศึกษาความหนาแน่นของการใช้คำยืมและคำที่ใช้ร่วมกันกับภาษามลายูปัตตานีพบว่าพื้นที่ของภาษาถิ่นตากใบใช้ ๗๘.๒๕%[2] ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียง ตากใบยังแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือกลุ่มตากใบ และกลุ่มพิเทน ซึ่งภาษานี้พูดในอำเภอทุ่งยางแดง และกะพ้อในจังหวัดปัตตานี นอกจากนี้ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงตากใบยังมีความใกล้เคียงกับภาษาถิ่นสะกอม ที่ใช้ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ชื่อของภาษา ภาษานี้เป็นภาษาที่มีผู้พูดอาศัยกระจายในวงกว้าง ชื่อเรียกของภาษานี้จึงมีให้เรียกต่างๆกันไปอย่าง ภาษาเจ๊ะเห มาจากชื่อตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงตากใบ เป็นคำเรียกในวงกว้าง ชี้เฉพาะว่าภาษานี้มีผู้พูดกลุ่มใหญ่อยู่ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส หรือภาษาตุมปัต ที่เรียกในกลุ่มชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยในรัฐกลันตัน โดยเฉพาะที่เมืองตุมปัต ที่มีคนเชื้อสายไทยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเรียกตามท้องถิ่นอย่าง ภาษาสายบุรี เป็นต้น