นายสายัณต์ น้อยศรี อายุ ๖๕ ปี เป็นช่างตัดพวงมโหตรที่มีฝีมือและเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่สอนเด็กนักเรียนและเยาวชนในชุมชนเรื่องการตัดพวงมโหตร
พวงมโหตร (พวง-มะ-โหตร) ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
หมายถึง พวงอุบะซึ่งห้อยประดับอยู่ที่คันดาลฉัตร ทำด้วยผ้าตาดทอง,ลูกมโหตร
พวงมโหตร ตามพื้นบ้านหมายถึง การนำกระดาษว่าว กระดาษสา หรือกระดาษแก้ว สดใสหลากสี มาพับแล้วใช้กรรไกรตัดสลับไป-มา ให้เป็นพวงห้อยเป็นชั้นๆ นำมาห้อยคูกับธงราว หรือเป็นพู่ห้อยระย้าตรงกลางกระดาษสายรุ้ง ซึ่งยังพอมีให้เห็นกันอยู่บ้างตามหมู่บ้านหรือตามวัดในชนบท ที่นำมาประดับตกแต่งสถานที่ต่างๆ ตามงานมงคล งานประเพณี และงานรื่นเริงตามเทศกาลต่างๆ ซึ่งพวงมโหตรนี้ยังมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ทางภาคเหนือ ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร แพร่ น่าน เชียงใหม่ เรียกว่า เต่ารั้ง หรือเต่าร้าง ,ตุงใส้หมู หรือตุงพญายอ ทางภาคอีสาน ได้แก่ อุดร เลย เรียกว่าพวงมาลัย ส่วนทางจังหวัด ชัยนาท จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา เรียกว่า “พวงมโหตร หรือพวงระย้า ”
โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนบ้านท่ากระยาง หมู่ที่ ๕ ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท โดยประธานโครงการฯ คือคุณลุง พาน เกตุกัน อดีตกำนันตำบลชัยนาท ซึ่งเป็นประธานโครงการศูนย์สายใย จึงมีความคิดที่จะถ่ายทอดความรู้ให้เยาวชนในตำบลชัยนาท จึงได้จัดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ตัดพวงมโหตรขึ้นโดยมี นางยุภาพร เทพพักทัน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ เลขาโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนบ้านท่ากระยาง ร่วมจัดกิจกรรม โดยหาปราชญ์ชาวบ้าน คือคุณลุง สายันต์ น้อยศรี มาถ่ายทอดองค์ความรู้การตัดพวงมโหตร ขึ้น ในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ มีเยาวชนเข้ารับการถ่ายทอด จำนวน ๗๐ คน ณ ห้องประชุมโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน บ้านท่ากระยาง หมู่ที่ ๕ ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท
คุณลุงสายันต์ น้อยศรี ผู้สืบสานงานศิลปะไทย จึงได้รื้อฟื้นความทรงจำที่เคยทำพวงมโหตร ซึ่งคุณลุงท่านเรียกว่า เต่ารั้ง คุณลุงสายันต์ท่านบอกว่า เต่ารั้งนี้มีลวดลายที่หลากหลาย ผู้ที่ประดิษฐ์ จะออกแบบลวดลายให้แตกต่างกันออกไป คุณลุงสายัณต์ ได้ถ่ายทอดให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เพื่อเป็นแนวทางให้เยาวชนได้เรียนรู้ อนุรักษ์ และสืบสานงานศิลป์แขนงนี้ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป