นายฉิ้น อรมุต เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๒
หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๔ ที่จังหวัดสงขลา จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดธรรมโฆษณ์ เมื่อปี ๒๔๘๖ และได้อุปสมบทเมื่อปี ๒๔๙๖ อยู่ ๑ พรรษา จนสอบได้นักธรรมตรี ตั้งแต่วัยเด็ก หนังฉิ้นมีความรักในการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีหนังสือธรรมะ และ วรรณกรรมอมตะของนักประพันธ์ชั้นเยี่ยมของไทยเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในด้านต่างๆ อย่างลึกซึ้ง และอีกสิ่งหนึ่งที่ท่านมีความชอบเป็นพิเศษ ก็คือหนังตะลุงนั่นเอง ถึงขั้นประดิษฐ์ตัวหนังด้วยกระดาษแล้วเอามาเล่นในหมู่เพื่อนฝูง แต่ก็ถูกบิดาห้ามปรามไม่ให้เล่น เมื่อบิดาทราบเรื่องที่หนังฉิ้นได้แอบไปเล่นหนังตะลุงอีก และเห็นแล้วมีความรักและความพยายามอย่างจริงจังยากที่จะขัดขวางได้ จึงหันมายอมรับ และให้การสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขที่ว่าหนังฉิ้นจะต้องตั้งใจเรียน และจดจำกลอนที่บิดาผู้ซึ่งมีความสามารถในทางการแต่งกลอนเป็นพิเศษ สอนให้ ซึ่งหนังฉิ้นก็ตั้งอกตั้งใจเล่าเรียนและท่องจำกลอนของบิดาทุกวันจนสามารถจำได้อย่างขึ้นใจมากมาย หนังฉิ้นได้พยายามขวนขวายหาความรู้ทางด้านการแสดงหนังตะลุงโดยการติดตามไปดูหนังตะลุงคณะต่างๆ ทั้งหน้าโรงและหลังโรงในทุกโอกาสที่จะทำได้ และพยายามจดจำแบบอย่างที่เห็นว่าดี นำกลับมาฝึกฝนเองทีละเล็กทีละน้อย จนพัฒนาความสามารถขึ้นโดยลำดับ หนังฉิ้นยังฝึกฝนการว่ากลอนสดจนสามารถดำเนินเรื่องอย่างสดๆ ไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยไหวพริบและปฏิภาณอันเป็นเลิศ
หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ มีประสบการณ์ในการเล่นหนังตะลุงมาเป็นเวลายาวนาน ท่านได้ออกตระเวนเล่นหนังทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย ตลอดจนเล่นแพร่ภาพทางโทรทัศน์วิทยุมาโดยตลอด ที่สำคัญที่สุด คือการได้เล่นหนังตะลุงถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตร ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เมื่อปี ๒๕๑๗ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้พระราชทานนามคณะหนังตะลุงของหนังฉิ้นว่า “หนังอรรถโฆษิต” อันหมายถึงคณะหนังตะลุงที่ประกาศความดี ยังความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจแก่หนังฉิ้นเป็นล้นพ้น
เมื่อหนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในวิชาชีพแล้ว ท่านก็ได้ใช้ความสามารถและศักยภาพของความเป็นนายหนังตะลุงยอดนิยม ช่วยเหลืองานทางสังคมต่างๆ ฐานะสื่อที่ช่วยเผยแพร่ข่าวสารและเสริมสร้างศีลธรรมอันดีงามในสังคม ส่วนในด้านการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหนังตะลุงนั้น ท่านก็ได้ทำการบันทึกการแสดงเอาไว้ทั้งที่เป็นภาพถ่าย เทปบันทึกเสียง และเทปบันทึกภาพ ตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด แล้วนำไปมอบให้เป็นสมบัติของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา เพื่อให้เป็นข้อมูลและหลักฐานสำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังได้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ที่สนใจและเป็นวิทยากรรับเชิญในหลายโอกาส
จากประวัติการทำงานอันดีเด่นทำให้หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ได้รับการประกาศให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ และในปีเดียวกันนั้นเอง ท่านก็ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) นับเป็นนายหนังตะลุงคนที่ ๒ ที่ได้รับเกียรติยศนี้ ซึ่งท่านแรกก็คือหนังกั้น ทองหล่อ ครูของท่านเองผู้ล่วงลับไปก่อนแล้ว