พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ คือการ“ขึ้น” หรือเริ่มต้นพิธีกรรมอันเป็นมงคล โดยจะเริ่มที่การบอกกล่าว “ท้าวทั้งสี่” คือมหาเทพทั้ง ๔ พระองค์ซึ่งเป็นผู้ดูแลโลกทั้งในการสำรวจดูผู้ประกอบกุศลกรรมต่าง ๆทั้งป้องกันภัยและอำนวยความสุขความเจริญแก่มนุษย์ ในทิศทั้งสี่ของศูนย์กลางของจักรวาลคือเขาพระสุเมรุซึ่งในวันขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ มหาเทพทั้งสี่พระองค์นี้จะไปตรวจตราโลกด้วยตนเอง และทรงเป็นหัวหน้าของเทพในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิก ซึ่งตั้งอยู่บนทิวเขายุคล ธรอันสูงกึ่งหนึ่งของเขาพระสุเมรุ ทุกพระองค์มีอายุกำหนด ๕๐๐ ปีทิพย์ ท้าวทั้งสี่พระองค์นี้ ได้แก่
๑. ท้าวกุเวร หรือเวสสุวัณณ์ หรือไพสรพณ์ มีหน้าที่รักษาโลกอยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ
๒. ท้าวธตรฐะ มีหน้าที่รักษาโลกอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ
๓. ท้าววิรุฬหกะ มีหน้าที่รักษาโลกอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ
๔. ท้าววิรูปักขะมีหน้าที่ดูแลโลกอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ
แต่ในการประกอบพิธีนั้น นอกเหนือจากจะกล่าวถึงมหาเทพทั้งสี่ดังกล่าวแล้ว ยังกล่าวถึงพระอินทร์และนางธรณีอีกด้วย ซึ่งเมื่อกล่าวถึงกลุ่มมหาเทพเช่นนี้ก็จะถือว่าพระอินทร์ซึ่ง“กินสองสวัรค์” คือ เป็นอธิบดีของสวรรค์ ทั้งชั้นดาวดึงส์และจาตุมหาราชิกเป็นหัวหน้า ส่วนนางธรณีนั้นปรากฏในแง่ของ “ผู้จื่อจำน้ำอยาดหมายทาน” คือผู้เป็นสักขีพยานรับรู้ถึงการกระทำกรวดน้ำทำบุญทั้งปวงของมนุษย์
ในการประกอบการมงคลต่างๆ เช่น ปลูกบ้านใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ บวชเณร อุปสมบทพระ งานฉลองถาวรวัตถุในศาสนา งานบูชาเสาอินทขีล(หลักเมือง) แรกนาและเทศกาลตรุษสงกรานต์ ถือว่าต้องทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่เสมอ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเพื่อป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆกระทงแต่ละทิศจะใส่เครื่องบูชาสังเวยท้าวทั้งสี่ในพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ของล้านนา พิธีนี้สำคัญมาก ก่อนจะทำการมงคลใดๆ จะต้องมีการขึ้นท้าวทั้งสี่เสียก่อน เป็นการบอกกล่าวขอความคุ้มครองจากท่าน ท่านในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปธรรมที่หมายแทนด้วยท้าวทั้งสี่ก็ได้ ลึกเข้าไปหมายถึงการเตือนสติตัวเอง ให้นึกถึงนามธรรมที่ซ่อนอยู่ในรูปของหัวหน้าคนธรรพ์ หัวหน้ากุมภัณฑ์ หัวหน้านาคและหัวหน้ายักษ์
อุปกรณ์/วัสดุ/สื่อ/วัตถุดิบ ในการผลิตผลงาน
๑. หยวกกล้วย (นำมาทำเป็นสะตวง โดยนำมาหักให้เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส และนำไม้ไผ่เหลาขนาดเท่าไม้เสียบลูกชิ้น ปักสอดไปด้านล่าง ให้ห่างกันประมาณ ๑ นิ้ว เพื่อใช้เป็นฐานรองพื้นสะตวง ทำทั้งหมดจำนวน ๖ อัน)
๒. ทำช่อ (ธงเล็ก) สีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว สีดำ สีละ ๔ ช่อ รวมทั้หมด ๒๔ ช่อ
๓. กล้วย ,อ้อย,ขนม,แกงส้ม,แกงหวาน, ผลไม้ ตัดแบ่งใส่ทุกสะตวง
๔. ทำสัปปทนพระอินทร์ (ร่มขนาดเล็ก ทำจากกระดาษสี ) ปักไว้ตรงกลางสะตวงด้านบน
๕. น้ำส้มป่อย ,เทียนขี้ผึ้ง , ธูป
ขั้นตอนในการผลิตผลงาน
การปูจาท้าวตั้งสี่ ปู่อาจารย์ผู้ทำพิธีจะนำกระทงเครื่องปูจา(บูชา) วางบนแท่นปูจา โดยทำเป็น หอประสาทมีเสาเดียวสำหรับตั้งเครื่องบูชา เพื่อปูจา พญาอินต๋า(พระอินทร์) ท้าวตะละโถ(ท้าวธตรฐ) ท้าววิโลหะโก๋(ท้าววิรุฬหก) ท้าววิธูปักโข(ท้าววิรูปัก) ท้าวกุเวโร(ท้าวกุเวร) และพระแม่ธรณี จากนั้นจุดธูป ๒๐ ดอก ปักที่ตีนเสาจากนั้นจะกล่าว สาวะคะตั๋ง โลก๋าวิทู นะมามิ ๓ ครั้ง เป่าเสกลงบนมือแล้วตบไปที่เสาสามครั้ง ต่อด้วยการร่ายคาถาชุมนุมเทวดา , คำปูจาต้าวตั้งสี่ และคำปูจาพญาอินทร์
การตั้งเสาบูชา จะใช้เสาไม้ความสูงพอให้สะดวกสำหรับการวางเครื่องบูชา ใช้ไม้ทำเป็น รูปกากบาทบนหัวเสา จะได้ปลายไม้ที่ชี้ไปทั้งสี่ทิศ ถ้าเป็นงานวัดที่มีการเฉลิมฉลองทุกปีการทำเสาก็จะทำถาวร แต่หากเป็นที่บ้านซึ่งนาน ๆ มีงานครั้งก็อาจใช้ต้นกล้วยแทนเสาไม้ได้สะตวง เป็นกระทงทำจากกาบกล้วยพับมุมให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม ด้านล่างทำเป็นฐานรองด้วยใบตองกล้วย สะตวงใช้สำหรับใส่เครื่องบูชา อันได้แก่ ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก เมี่ยง บุหรี่ ขนม ตุงจ้อ (ธงสามชายทำด้วยกระดาษสีต่าง ๆ ) ใช้ปักในและขอบสะตวง จะวางไว้บนปลายไม้ทั้งสี่ทิศ และสะตวงใหญ่ที่วางไว้ตรงกลางด้านบนเป็นสะตวงใหญ่สำหรับพระอินทร์ ผู้เป็นหัวหน้าหรือประธานของเหล่าเทวดาทั้งหลาย สะตวงอันสุดท้ายใช้วางไว้บนดินโคนเสาสำหรับบูชาแม่ธรณี สะตวงที่ใช้ในพิธีมีทั้งหมด ๖สะตวงด้วยกัน การปู่จาท้าวทั้งสี่ จะเลือกประกอบพิธีทางทิศตะวันออก เพราะชาวล้านนานิยมนอนหันหัวไปทางทิศตะวันออก ซึ่งถือเป็นทิศที่หมายถึงความรุ่งโรจน์เป็นมงคล ช่วงเวลาในการทำพิธี นิยมจัดพิธีกรรม ในช่วงเช้าของวันข้างขึ้น และในวันที่มีงานบุญต่าง ๆ
หมายเหตุ ข้อมูลอ้างอิงจาก http://www.ironeaglecm.com/forum/index.php?topic=๒๑๒.๐