สถานที่ตั้งโครงการ ณ โรงเรียนบ้านกล้วย ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จัดตั้งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552 โดยมี นายสุกิจ อินศรีชื่น เป็นประธานโครงการ เป็นศูนย์ระดับ 2 มีคณะกรรมการบริหารโครงการ 26 คน ได้ดำเนินงานกิจกรรมใน 6 องค์ประกอบ ได้แก่
1) ด้านคลังสมองภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ดำเนินการสืบค้นข้อมูลรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น ในพื้นที่ของตำบลบ้านกล้วยเพื่อรวบรวมจัดหมวดหมู่ เนื่องจากประชาชนเป็นชาวไทยพวนที่อพยพมาจากเมืองพวน มีภาษาพูด การแต่งกาย อาหารการกิน การดำรงชีวิต การแสดง การละเล่น มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นเอกลักษณ์ของตนเองตั้งแต่บรรพบุรุษถึงปัจจุบัน เพื่ออนุรักษ์ให้คงอยู่และทำการเผยแพร่ต่อสาธารณชน
2) ด้านอาชีพศิลปะและวัฒนธรรม ได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นจากเดิมเป็นแบบรุ่นสู่รุ่นในครัวเรือน การถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น พิธีสู่ขวัญแบบคนไทยพวน ตั้งเป็นกลุ่มตามความถนัดและความสนใจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน เน้นการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างงาน สร้างอาชีพให้มีรายได้สอดรับกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มทอผ้ามัดหมี่ กลุ่มจักสาน กลุ่มแปรรูปจากการทอผ้า กลุ่มถนอมอาหาร ทำปลาส้มฟัก – หมูส้ม กลุ่มท่องเที่ยวหมู่บ้านวัฒนธรรม ให้แก่นักเรียน เยาวชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป
3) ด้านส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพเด็ก เยาวชน ประชาชนภายในตำบลและประชาชนทั่วไปเพื่อพัฒนาให้มีจิตสาธารณะ การถ่ายทอดความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่น ได้แก่ประเพณีกำฟ้า การทำบุญจุลกฐิน การทำบุญข้าวจี่ การทำบุญข้าวเม่า การบายศรีสู่ขวัญ เป็นต้น จัดให้มีการเรียนธรรมะศึกษาของนักเรียนและผู้สนใจ ในโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นศุนย์กลางการประกอบกิจกรรมทางศาสนาของชุมชน อำเภอบ้านหมี่และจังหวัดลพบุรี ประชาชน ได้รับการอบรมธรรมะ การบรรยายจากพระธรรมฑูตตามโครงการธรรมะสัญจร
4) ด้านลานวัฒนธรรม วัดกัทลีพนาราม (บ้านกล้วย) เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมร่วมกันทั้งการจัดงานประเพณีต่าง ๆ การจัดเป็นลานกีฬาสำหรับเยาวชน ส่งเสริมให้เป็นลานออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ ได้จัดให้มีการอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมให้มีการแสดงในพิธีต่าง ๆ ของนักเรียนและผู้สูงวัยจัดให้มีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านในเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันสงกรานต์ งานประเพณีกำฟ้า
5) ด้านศูนย์สารสนเทศและห้องสมุดชุมชน ดำเนินการรวบรวมข้อมูลการสืบค้น ตามองค์ประกอบของโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน จัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ สามารถนำมาใช้บริการในห้องสมุดชุมชน ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตำบลบ้านกล้วย ห้องสมุดโรงเรียนบ้านกล้วย (พวงราษฎร์บำรุง) ศูนย์ศิลปาชีพประชาสุขสันต์ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมรักการอ่านให้กับนักเรียน ประชาชน จัดให้มีการบริการอินเตอร์เน็ตกับชุมชนในการศึกษาหาความรู้ ความบันเทิง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในด้านการประกอบอาชีพและจัดกิจกรรมการเรียน การอบรมเพื่อการดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มจัดทำศูนย์วัฒนธรรมไทยพวนบ้านกล้วย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชน ผู้สนใจเพื่ออนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีไทยพวนไม่ให้ถูกกระแสตะวันตกกลืนหายไป จากชุมชนไทยพวนบ้านกล้วย
6) ด้านพิพิธภัณฑ์ชุมชน ได้รวบรวมวัสดุสิ่งของเครื่องใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เครื่องมือประกอบอาชีพที่เป็นของเก่าของชาวบ้าน เพื่อรวบรวมจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาของชาวไทยพวนบ้านกล้วย และภูมิปัญญาในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ยังพอมีให้ลูกหลานได้เรียนรู้และบุคคล อันเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดจนประวัติความเป็นมาของชุมชนท้องถิ่นมิให้สูญหายไป