วัดเวฬุวัน ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๐ ที่บ้านไผ่ใหญ่ ม.๑๐ ต.ไผ่ใหญ่ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ ๑๓ ไร่ ๒ งาน ๑๐ ตารางวา ตามโฉนดเล่มที่ ๑๓๘ เลขที่ ๑๒๙๒
พระครูโศภนธรรมาภรณ์ เล่า วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๓๐ ว่า คนเฒ่าแก่เล่าว่า วัดนี้เป็นที่รกร้างมีกอไม้ไผ่และเถาวัลย์ปกคลุมหนาทึบ มีพระธุดงค์ชื่อว่า ยาครูสา จากประเทศลาวมาพักปฏิบัติธรรมพบโบสถ์ที่ชำรุด จึงชักชวนกลุ่มชนที่อาศัยอยู่หนองเจ้าบ้านบูรณะขึ้นใหม่ ตั้งชื่อว่า “วัดเวฬุวัน” และย้ายหมู่บ้านมาอยู่ใกล้กับวัด ตั้งชื่อว่า “บ้านไผ่ใหญ่” คนทั่วไปเรียกว่า “บ้านไผ่ครูสา” ส่วนกลุ่มชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่หนองเจ้าบ้านนั้น ได้อพยพมาจากบ้านหนองไหล – ปะอาว หนีศึกสงครามสู้รบกันอยู่ที่ดอนมดแดง เมืองอุบลราชธานี ศาสนวัตถุที่สำคัญของวัดมีดังนี้
อุโบสถ มีขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๓ เมตร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ มีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๒๖ เมตร
พระพุทธรูป ปางมารวิชัยก่ออิฐถือปูน กว้าง ๕๕ นิ้ว สูง ๑๐๒ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป ผู้ใดไม่สัตย์ซื่อต่อกัน ดื่มน้ำสาบานต่อหน้าพระพุทธรูปนี้ จะปรากฏผลให้มีอันเป็นไปได้ทันตา
เทวรูปหิน รูปคนครึ่งตัว ทรงผมมหาดไทย ทำด้วยหินศิลาแลง ขุดพบในสระเซียงเมียง ชาวบ้านเรียกว่า “เจ้าเซียงเมี่ยง” คนเชื่อว่า ถ้าดื่มน้ำที่เทลาดศรีษะเทวรูปนี้ จะมีปัญญาเฉียบแหลม ต่อมาได้หักออกเป็น ๒ ท่อน ส่วนศีรษะได้สูญหายไป
วัดเวฬุวัน เป็นสำนักเรียนมูลกัจจายน์ มีชื่อเสียงในอดีต มีพระมหาพุฒ เป็นชาวบ้านไผ่ใหญ่สอบได้เปรียญธรรมรูปแรก ต่อมาพระครูโศภนธรรมาภรณ์ ตั้งสำนักเรียนปริยัติธรรมขึ้น มีกิตติศัพท์ระบือไปทั่ว มีพระภิกษุ สามเณร มาศึกษาเล่าเรียนสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค หลายรูป และปัจจุบันมีทั้งศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด และโรงเรียนเวฬุวันวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนการกุศล
เจ้าอาวาส ที่สามารถสืบค้นได้มีดังนี้
๑) พระอาจารย์เส่ว ๒) พระอาจารย์โหล่น ๓) พระอาจารย์คำภา ๔) พระอาจารย์อุ่นใจ
๕) พระอาจารย์อุ่น ๖) พระครูโศภนธรรมาภรณ์ ๗) พระเมธี ธมฺมธโร ๘) พระครูเวฬุวันสุตกิจ องค์ปัจจุบัน