สะพานนี้เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กมีขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๘๐ เมตร เป็นสะพานมาตรฐานรถบรรทุกหนักเกินเกินขนาดข้ามได้ สร้างขึ้นที่หน้าวัดบ้านโป่ง ห่างจากศาลาการเปรียญ ประมาณ ๒๖๐ เมตร ข้ามแม่น้ำแม่กลองจากฝั่งบ้านโป่งไปจดฝั่งตำบลเบิกไพร ฝั่งบ้านโป่งเป็นเนื้อที่ของวัดบ้านโป่ง ฝั่งเบิกไพรเป็นเนื้อที่ของนายเจือ นางแจ๋ว ทองเปลว เป็นผู้บริจาคให้สะพานลง
การก่อสร้างสะพานนั้น พระครูพิทักษ์โลนภูมิ เจ้าคณะอำเภอบ้านโป่ง เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างในสมัยนั้น โดยใช้เงินที่มีผู้ศรัทธาบริจาคทั่ว ๆ ไป ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาอื่น รู้ข่าวการก่อสร้างสะพานก็ช่วยกันบริจาค โดยได้รับการสนับสนุนจากพระมหาเถระ ตั้งแต่เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง เช่น พระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ต้นตำรับการก่อสร้างสะพานในจังหวัดกาญจนบุรี ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
พระครูพิทักษ์โลนภูมิจึงดำเนินการขออนุญาต ขอแบบสร้างสะพานและได้รับอนุญาตให้ทำการสร้างได้ จึงดำเนินการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๔ โดยท่าเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพะยา และได้เตรียมงานและเริ่มทำจริงเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๔ โดยสมเด็จพระธีรญาณมุนี ประกอบพิธีตอกเสาเข็ม หลังจากนั้นก็ดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมาจนสำเร็จเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖ เป็นเงิน ๒๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
วัตถุประสงค์ของการก่อสร้างสะพานนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่การสัญจรไปมาของสาธารณชนทั่ว ๆ ไป คณะกรรมการและประชาชนชาวบ้านโป่ง เห็นพ้องต้องกันว่าสะพานสร้างในระหว่างที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ มีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา เห็นสมควรตั้งชื่อสะพานแห่งนี้ว่า“สะพานเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษามหาราชินี” พ.ศ. ๒๕๓๕วัดบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จึงได้ทำเรื่องขอพระราชานุญาตและได้รับพระราชานุญาตแล้ว
ประชาชนชาวบ้านโป่ง มีความเลื่อมใสใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอย่างยิ่งขอกราบทูลเชิญเสด็จมาเปิดสะพานและยกช่อฟ้าศาลาการเปรียญเปิดหน้าบัน “สธ” และพระองค์ได้มีพระเมตตามหากรุณาธิคุณรับเป็นประธานเปิดในวันที่ ๒๙ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่วัดบ้านโป่งและชาวบ้านโป่ง