ครกตำข้าวโบราณเป็นเครื่องมือสำคัญในการแปรรูปข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารโดยวิธีการตำข้าววิธีการตำข้าวแบบเดิมของชาวบ้านนั้นเป็นการกะเทาะแยกเอาเปลือกหุ้มออกจากเมล็ดข้าว
ครกตำข้าวโบราณ หรือครกไม้ จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ครกซ้อมมือ ครกตำข้าว เป็นต้น ครกตำข้าวโบราณ ชาวบ้านจะใช้สำหรับตำข้าวเปลือก ตำงา ตำถั่ว ตำข้าวเม่า ตำขนมจีน แต่ส่วนใหญ่ในสมัยก่อนมุ่งใช้เพื่อตำข้าวเปลือกเป็นหลักเพราะในสมัยโบราณไม่มีโรงสีข้าวเหมือนในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีตำข้าวเปลือกให้เป็นเม็ดข้าวสารไว้สำหรับหุงกิน จึงคิดประดิษฐ์ครกที่ทำจากไม้ขึ้นมา
การทำครกตำข้าวโบราณ /ครกไม้
ชาวบ้านจะใช้ท่อนไม้ใหญ่ทั้งลำต้น ส่วนใหญ่จะเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้มะค่า ไม้พะยอม ฯลฯ โดยจะตัดท่อนไม้ให้มีความยาวประมาณ 1 เมตรหรือประมาณ 80 –90 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ50-60 เซนติเมตรตัดหัวตัดท้ายให้ผิวเรียบเสมอกันเพราะเมื่อเวลานำครกไปตั้งไว้ ครกจะได้ตั้งได้ตรงไม่กระดกเอียงไปมาได้ จากนั้นชาวบ้านจะเจาะส่วนตรงกลางด้านบนของท่อนไม้ โดยไม่ให้เว้าลึกลงไปเหมือนครกหินการเจาะลึกจะใช้ขวานโยนและค่อยตกแต่งไปเรื่อย ๆ ให้ปากครกกว้างส่วนก้นครกจะลึกสอบเข้าเป็นหลุมลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตรบางพื้นที่จะใช้วิธีการเจาะตรงกลางเป็นร่องลึกโดยใช้ขวานฟันเอาแกลบใส่เป็นเชื้อและจุดไฟเผาส่วนกลางของท่อนไม้เผาเป็นโพรงให้มีขนาดลึกตามต้องการ เมื่อได้ขนาดตามที่ต้องการแล้วจะทำการขัดภายในให้เกลี้ยงเกลาตัวครกมีสองขนาดคือครกขนาดใหญ่ และครกขนาดเล็ก
เมื่อทำครกเสร็จแล้ว จะต้องทำสากเพื่อใช้ในการตำ ซึ่งการทำสากจะทำได้ ๒ วิธี คือ
๑ .สากมือ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งมีความยาวประมาณ 2 เมตร ลักษณะปลายทั้งสองข้างโค้งมน หัวสากจะมนใหญ่ปลายสากจะมนเรียวเล็ก ตรงกลางลำตัวสากคอดกลมกลึงพอดีกับมือกำอย่างหลวมปลายสากมีไว้ตำข้าวตำ หัวสากมีไว้ตำข้าวซ้อม
๒ . สากชนิดใช้ไม้ ๒ ท่อนคือ ท่อนหนึ่งสำหรับตำ อีกท่อนหนึ่งเป็นมือจับ เรียกว่า สากโยนหรือสากมือ
การตำสิ่งของต่าง ๆ เช่น ตำข้าว ตำงา ตำพริก ตำแป้งขนมจีนและอื่น ๆ อาจตำคนเดียว หรือ ๒ - ๓ คนก็ได้ ผู้ตำข้าวส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานถ้าตำหลายคนต้องตำสลับกันเมื่อตำสิ่งของละเอียดจะมีคนคอยใช้มือกลับไปกลับมาให้ตำทั่วถึงกัน
วิธีตำข้าวมีลำดับดังนี้
1. นำข้าวที่จะตำไปผึ่งแดดหนึ่งวันเพื่อให้ข้าวแห้งจะบุบเปลือกง่ายขึ้น
2. นำข้าวมาเทลงในครกจำนวนพอเหมะใช้คนตำสองสามคนมีจังหวะการตำที่ไม่พร้อมกัน
3. ใช้เวลาในการตำข้าวนานจนกว่าจะเหลือข้าวเปลือกจำนวนน้อยที่ปนอยู่ในข้าวสาร แล้วเก็บกากออก
ข้อดีของการตำข้าวด้วยครกไม้/ครกมือ คือ
เลือกสถานที่และเคลื่อนย้ายที่ตำได้ตามต้องการ เพราะครกไม้/ครกมือไม่ได้ฝังลงในดินนอกจากนี้ครกไม้/ครกมือใช้คนตำจำนวนน้อยประมาณ 2 –3 คน
ข้อเสียของครกไม้/ครกมือ คือใช้เวลาการตำนาน ออกแรงมาก ทำให้เหนื่อยเร็วและได้ข้าวจำนวนน้อย ในสมัยก่อนครกตำข้าวโบราณหรือครกไม้เป็นเครื่องใช้ที่มีแทบทุกครัวเรือน โดยชาวบ้านนิยมทำไว้ข้างยุ้งข้าวเพื่อความสะดวกโดยมุงหลังคายื่นออกมากันแดดกันฝนเรียกว่าเพิงมอง ถ้าบ้านใต้ถุนสูงจะตั้งครกไว้ใต้ถุนบ้าน
ปัจจุบันประชาชนในอำเภอคลองเขื่อน ไม่ใช้ครกดังกล่าวแล้ว เพราะใช้ไม่สะดวก และเนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถอำนวยความสะดวกสบายเข้ามาใช้ในพื้นที่ ประชาชนจึงค่อยๆ เลิกใช้ครกตำข้าวโบราณ บางบ้านจะไม่เก็บปล่อยให้ผุพัง หรือนำไปประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ด้านอื่น เช่น ที่นั่ง ที่วางของ โดยจะทำการคว่ำปากครกตำข้าวโบราณลง หงายก้นครกขึ้นมา หรือเมื่อมีใครมาขอซื้อจะขายไปในราคาถูก เด็ก เยาวชน ในอำเภอคลองเขื่อนไม่รู้จักครกตำข้าวโบราณแล้ว
คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอคลองเขื่อน ได้เล็งเห็นคุณค่าของครกตำข้าวโบราณ จึงได้ขอบริจาคครกตำข้าวโบราณจากบุคคลที่ไม่ได้ใช้แล้ว นำมาจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์อำเภอคลองเขื่อน