ชื่อประเพณีชิงเปรต
ประวัติความเป็นมาประเพณีวันสารทเดือนสิบ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าชิงเปรต เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวบ้านปฏิบัติต่อๆกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติ พี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว พอเริ่มแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบ หรือที่เรียกว่ารับเปรต เชื่อกันว่าพญายมจะปล่อยวิญญาณของผู้ล่วงลับไปแล้ว ให้กลับมาเอาส่วนบุญส่วนกุศลจากลูกหลาน ญาติพี่น้อง ก่อนที่บรรพบุรุษจะกลับสู่ยมโลก ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ หรือที่เรียกว่าวันส่งเปรต ในโอกาสนี้ ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่จะนำอาหารไปทำบุญ ที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยอาหารที่เตรียมไปจะประกอบด้วย ขนมลา ขนมพอง ขนมเจาะหู ข้าว แกง และผลไม้ต่างๆ ส่วนใหญ่จะนำอาหารที่บรรพบุรุษชอบ นำไปถวายพระส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะนำไปวางรวมกันไว้บนร้านเปรต ซึ่งร้านเปรตนี้อาจด้วยไม้เสาสูง ส่วนด้านบนจะมีที่สำหรับตั้งของ บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อมไว้รอบและต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ในวิหารที่เป็นที่ทำพิธีกรรม โดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตาย ซึ่งบุตรหลานนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์ บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปยังเปรตชนที่เป็นบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ผู้ที่มาร่วมทำบุญทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะเข้าไปรุมกันแย่งขนมที่ตั้งบนร้านเปรตด้วยความสนุกสนาน เชื่อกันว่า การแย่งขนมเปรตที่ผ่าการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
สาระสำคัญประเพณีชิงเปรต นอกจากจะเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยโกศลบายในการรวมญาติพี่น้องให้ได้มาพบเจอกัน ช่วยเสริมความผูกพันของคนในครอบครัวกับญาติ พี่น้องและความสนุกสนานในการร่วมกิจกรรมดังกล่าว และช่วยกันสืบสาน อนุรักษ์ประเพณีให้อยู่คู่กับชุมชน
กลุ่มคนที่เชื่อชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ
โอกาส ฤดูกาล เวลา สถานที่แรม ๑ ค่ำ เดือนสิบ และแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ
รูปแบบความเชื่อ ลักษณะการแสดงออกในวันนี้ลูกหลานจะเตรียมอาหารประกอบด้วย ขนมลา ขนมพอง ขนมเจาะหู ข้าว แกง และผลไม้ต่างๆ มาทำบุญถวายพระ เพื่ออุทิศบุญส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ
การสืบทอดเป็นประเพณีที่ปฏิบัติต่อๆกันมา ลูกหลานแม้จะออกไปทำงานในท้องถิ่นอื่น พอถึงเดือนสิบก็จะกลับมารวมพิธีกับญาติทางบ้าน ลูกหลานได้เห็นพิธีกรรมและจดจำได้ทำตามมาตลอด