ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 18° 3' 4.504"
18.0512511
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 6' 43.7782"
100.1121606
เลขที่ : 196128
คัมภีร์ธัมม์โบราณ วัดสูงเม่น
เสนอโดย แพร่ วันที่ 4 มีนาคม 2565
อนุมัติโดย แพร่ วันที่ 4 มีนาคม 2565
จังหวัด : แพร่
0 562
รายละเอียด

ที่มา และความสำคัญวัดสูงเม่นตั้งอยู่ที่ ถนนยันตรกิจโกศล ต.สูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ ห่างจากตัวเมืองแพร่ ๑๐ กิโลเมตร ติดริมถนนใหญ่ เดิมเรียกว่า วัดสุ่ง เหม้น คำว่าสุ่ง หมายถึง การอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก และคำว่า เหม้น มาจากสัตว์ตระกูลหนู ชื่อว่า เม่น วัดสูงเม่น จึงหมายถึง วัดที่อยู่เขตที่มีเม่นมาก สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีต่อเนื่องสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปัจจุบันมีพระครูปัญญาสารนิวิฐ เป็นเจ้าอาวาส ภายในวัดประกอบด้วย อุโบสถเก่าแก่ ศิลปะแบบล้านนา โครงสร้างไม้ตกแต่งด้วยลวดลายแบบพื้นเมืองผสมศิลปะพม่า มีเสาจำนวน ๑๖ ต้น ลงรักสีดำ ปิดทองลวดลายเถาวัลย์ เสาแต่ละต้นมีลวดลายแตกต่างกัน เพดานงดงามด้วยลวดลายแบบพม่า หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา หน้าบันสลักเป็นรูปนาคเกี้ยว เจดีย์ทรง ๖ เหลี่ยม หอพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยบาลี อีกทั้งมีโบราณวัตถุล้ำค่าที่น่าสนใจ ทั้งพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้ พระพุทธรูปถอดชิ้นส่วนได้ และคัมภีร์ใบลานที่สมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น ที่จัดแสดงเรื่องราวประวัติ ประเพณี พิธีทางธรรม และตัวอย่างคัมภีร์ใบลานที่ทำขึ้นมาใหม่ และเก่า รวมถึงผ้าห่อคัมภีร์ใบลานหลากหลายลวดลาย ในทุกเดือนมกราคม ของทุกปี วัดสูงเม่นจะจัดประเพณีตากธัมม์ ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า ซึ่งเป็นประเพณีที่สูญหายไปกว่า ๒๐๐ ปี แต่เมื่อวัดสูงเม่นได้เริ่มวิจัยประเพณีตากธัมม์ และการสืบค้นข้อมูลประเพณีที่เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สถานที่ที่ครูบากัญจนอรัญญาวาสี (ครูบามหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น เคยไปเป็นประธานทำสังคายนาธรรม จึงพบภาพประเพณีตากธัมม์โบราณที่วัดสบสิกขาราม เมืองหลวงพระบาง จากนั้นพระครูปัญญาสารนิวิฐจึงเริ่มฟื้นฟูประเพณีตากธัมม์ขึ้นมาอีกครั้ง ประเพณีนี้ประกอบด้วย ๓ กิจกรรมบุญหลัก เริ่มจากตากธัมม์ คือการนำคัมภีร์ธัมม์ใบลานออกมาผึ่งแดด เพื่อไล่ความชื้น การตานข้าวใหม่ คือการทำบุญหลังฤดูการเก็บเกี่ยว เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับด้วยข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ ส่วนการหิงไฟพระเจ้า คือความเชื่อที่ว่า เมื่ออากาศหนาวมากพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปในวิหารน่าจะหนาวเย็นด้วย จึงมีการหาไม้ฟืนมาจุดเผาผิงให้พระพุทธรูปคลายหนาว กิจกรรมนี้ แสดงให้เห็นถึงวิถีความสัมพันธ์แห่งการสืบทอดมรดกคัมภีร์ธัมม์ที่ข้ามพรมแดนระหว่าง ล้านนา ลาว และไทย เป็นความสัมพันธ์ที่ใช้หลักธรรมประเพณี และพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือ ในการสานความสัมพันธ์และถือเป็นประเพณีสำคัญในการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ที่สามารถเข้าใจถึงความเป็นไปของชนชาติในอดีตได้ ประเพณีตากธัมม์ จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนเข้าถึงหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาผ่านพิธีกรรม และเพื่อให้มีการจัดเก็บ ดูแล รักษาสภาพคัมภีร์ธัมม์ให้มีอายุการใช้งานที่ยั่งยืน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มีฐานความคิดที่สำคัญ คือ ความเชื่อในเรื่องอานิสงส์ว่า การฟังธรรมและสร้างคัมภีร์ธัมม์ ถวายวัดเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่

นอกจากนี้ภายในวัดสูงเม่น ยังมีหอธัมม์คัมภีร์โบราณ และตู้ธัมม์แห่งจิตวิญญาณเป็นโบราณสถานที่จัดเก็บรวบรวมรักษา และอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานที่มีอยู่ก่อนเดิม และที่สร้างใหม่ นำมาโดย หลวงปู่ครูบามหาเถร มุ่งหวังให้คัมภีร์ดังกล่าวมีอายุยืนยาว ตามคำปรารถนาของผู้สร้างคัมภีร์ที่จารไว้ท้ายคัมภีร์ และยังเป็นที่ทำหน้าที่ให้บริการความรู้ ด้านการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา และด้านการศึกษาคัมภีร์ธัมม์ โดยให้บริการแก่ผู้สนใจทุกระดับ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยหอธัมม์หลังนี้เป็นรุ่นที่ ๒ สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นแหล่งเก็บรวบรวมคัมภีร์ธัมม์ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ผูก หรือถ้านับเป็นใบลาน มีจำนวนกว่า ๑๐ ล้านใบลาน แต่ละคัมภีร์ถือเป็นคัมภีร์โบราณอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ กว่าปี สุดท้ายหอไตรปิฎกอักขระ ภาษาล้านนา มีคัมภีร์ใบลานอยู่ ๑,๗๘๕ เรื่อง โดยจัดเรียงและแบ่งเป็น ๓ หมวด ได้แก่ พระวินัย พระสุตันตะ และพระอภิธรรม อีกทั้งถือเป็นสถานที่เวียนธรรมคัมภีร์พระไตรปิฎกล้านนาแห่งเดียวในประเทศไทย

ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล อาจารย์ประจำวิชาพุทธศาสนาเถรวาท มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน และเลขาธิการสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ กล่าวว่า วัดสูงเม่นมีคัมภีร์เก่าแก่จำนวนมากที่รวบรวมมาจากหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ และหลวงพระบาง ประเทศลาว โดยมีคัมภีร์ที่ยังคงเก็บอนุรักษ์อยู่มากที่สุดในภาคเหนือ ซึ่งมีจำนวนมากถึง ๙,๘๐๗ ผูก และในจำนวนดังกล่าวมีคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ และมีคุณค่าจำนวนมาก เช่น คัมภีร์ โยชนาสัททา คัมภีร์บลีอุปริปัณณาสะ และคัมภีร์มูลกัมมัฏฐานภวิสติ

จากงานวิจัยพบว่าคัมภีร์มูลกัมมัฏฐานภวิสติ เป็นคัมภีร์เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิ ที่พบในประเทศไทย และประเทศลาว กระจายอยู่ทั่วประเทศ มากกว่าร้อยผูก โดยที่วัดสูงเม่นมีคัมภีร์มูลกัมมัฏฐานที่เก่าที่สุด เขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๑ คัมภีร์ดังกล่าวจึงถือเป็นหลักฐานชั้นต้นชิ้นสำคัญ วัดสูงเม่นจึงเป็นแหล่งอนุรักษ์วรรณกรรมลายลักษณ์โบราณที่หายาก และทรงคุณค่าที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

คัมภีร์ใบลานครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร ฉบับพระไตรปิฎกความสัมพันธ์ไทย-ลาว เป็นชุดคัมภีร์ ที่สร้างโดย สองเจ้าเมือง สองประเทศ คือ เจ้าเมืองแพร่ ร่วมกับ ราชวงศ์หลวงพระบางประเทศลาว โดยมีครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร เป็นผู้นำสร้าง โดยท่านทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตโดยใช้ธัมม์ นำหน้า และเป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ของ สองประเทศ คือ ประเทศไทย เมืองแพร่ กับ เมืองหลวงพระบาง ของประเทศลาว ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ของสองประเทศ โดยใช้ธัมม์นำ เพราะแต่ละเมืองก็นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อใช้ธัมม์เป็นสื่อในการเชื่อมความสัมพันธ์กัน เพราะการสร้างธัมม์ครั้งหนึ่งต้องใช้ระยะเวลานานมาก บางครั้งเป็นแรมปี ซึ่งเมื่อมีการร่วมกิจกรรมกัน ระหว่างเจ้าเมืองและประชากรทั้ง ๒ เมืองแล้ว โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำเชื่อมความสัมพันธ์ให้ผ่านกิจกรรม คัมภีร์ธัมม์ จึงทำให้ทั้งสองเมืองมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และมีความปรองดองสามัคคี เป็นแบบบ้านพี่เมืองน้องทำให้ไม่เกิดสงคราม

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่

https://www.facebook.com/wattanatumphrae

สภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่

https://www.facebook.com/retro.show.phrae

สภาวัฒนธรรมอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่วัดสูงเม่น ตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่

https://www.facebook.com/manuscript.sungmen.7

สถานที่ตั้ง
วัดสูงเม่น
ตำบล สูงเม่น อำเภอ สูงเม่น จังหวัด แพร่
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดแพร่ อีเมล์ phraeculture@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรม
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่