ตะกร้าหมากโบราณ ตะกร้าหมากโบราณนี้ เป็นตะกร้าหมากสมัย รัชกาลที่ ๕ หรือเรียกว่าเชี่ยนหมาก
การจัดเชี่ยนหมากหรือขันหมากมา รับรองแขกที่มาเยือน ถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งในสังคมชนบทอีสาน ในเชี่ยนหมากบรรจุหมาก พลู ปูน แก่นคูน(ราชพฤกษ์)เปลือกสีเสียดยาเส้นนวด (สีผึ้ง) และมีด สะนาก (กรรไกรหนีบหมาก) การกินหมากหรือเคี้ยวหมากควรฝานหมากและเปลือกสีเสียดบางๆ สับแก่นคูนหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เคี้ยวจนละเอียด แล้วเคี้ยวใบพลูที่ทาปูนม้วนเป็นรูปกรวยเรียกว่าพันพลู เมื่อพลูละเอียด จึงกลึงยาเส้นเป็นก้อนกลมถูฟันและนวดริมฝีปาก เรียกว่าสีนวดหรือสีปาก บ้วนน้ำหมากทิ้งเป็นระยะจนสีจาง จึงคายชานหมากทิ้ง
จะเห็นว่า การกินหมากเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณสิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการกินหมากอีกอย่างคือ เชี่ยนหมาก
เชี่ยนหมาก เป็นภาชนะสำหรับใส่เครื่องกินหมาก มีรูปแบบแตกต่างกันและทำด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น ทอง เงิน ทองเหลือง ไม้ ไม้ไผ่ หวาย กระจูด ย่านลิเพา ฯลฯ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าของ เพราะเชี่ยนหมากมิได้เป็นเพียงภาชนะสำหรับใส่เครื่องกินหมากหรือเครื่องเชี่ยนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมของเจ้าของด้วย
เชี่ยนหมากของพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ข้าราชการบริพารคหบดี มักทำด้วยทอง เงิน หรือถมทอง อย่างปราณีต งดงาม เพื่อให้สมฐานะ แต่ถ้าเป็นเชี่ยนหมากของคนทั่วไป มักทำด้วยวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ ไม้ไผ่ หวาย กระจูด ย่านลิเพา บางทีทำอย่างง่าย ๆ เพียงให้ใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น
การกินหมากเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในสมัยโบราณ แม้แต่พระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงในราชสำนัก ก็ยังกินหมากกันทั่วไป แม้ในสมัยต่อมาจะเลิกกินหมากแล้วก็ตาม เชี่ยนหมากหรือ “พานพระขันหมาก” ก็ยังเป็นเครื่องประกอบอยู่ในเครื่องราชูปโภคที่ประกอบพระราชอิสริยศของพระมหากษัตริย์