คำว่าพระแก้วมรกต หลายคนคงนึกถึงพระแก้วมรกตที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพ ชื่ออาจเหมือนกัน แต่เป็นพระ พุทธรูปที่แกะสลักจากแก้วมรกตที่เป็นเนื้อหยกเหมือนกัน ที่มาหรือตำนานพระแก้วมรกตทั้งสองแห่งก็แตกต่างกัน แต่ตำนานพระแก้วมรกตที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ยังเป็นปริศนา ตามหนังสือประวัติศาสตร์ของวัด หรือจากปรากฏในที่ต่างๆ ก็บอกที่มาคล้ายกัน เหมือนจะนำมาจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน แต่จากข้อสังเกตของชาวบ้านรุ่นก่อนๆ หรือจากคำบอกเล่าของพระเกจิที่นับถือของภาคเหนือ ก็ว่าไปอีกอย่าง เป็นคนละเรื่องคนละตำนานกันเลยทีเดียว ขอสรุปและคัดย่อบางตอนจากหนังสือของวัดที่พิมพ์จำหน่ายหรือตามที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ดังนี้ เริ่มจากศิษย์ตถาคตหรือศิษย์พระพุทธเจ้า ได้จุติจากดาวดึงส์ลงมาปฏิสนธิที่เมืองกุกุตนคร(เมืองลำปาง) เมื่อเจริญวัยก็ออกบวชเป็นภิกษุ ต่อมาได้เป็นพระเถระ ขณะเดียวกันก็มีเทวดาอีกองค์หนึ่งได้ลงมาจุติที่เมืองกุกุตนครเช่นเดียวกัน ชื่อว่านางสุชาดา นางได้เลื่อมใสพระพุทธศาสนา จนได้มาปรนนิบัติรับใช้พระเถระอยู่ที่วัดม่อนดอนเต้า อยู่มาวันหนึ่งพระเถระคิดจะสร้าง พระพุทธรูปสักองค์ แต่หาวัตถุที่จะสร้างไม่ได้ ก็พอดีนางสุชาดาได้ไปที่ไร่เพื่อเก็บดอกไม้มาถวายพระ ได้พบหมากเต้า หรือผลแตงโม ลูกงามใบหนึ่ง จึงนำมาถวายพระเถระ แต่เมื่อผ่าออกมาปรากฏว่าในผลหมากเต้านั้นพบแก้วมรกตอยู่ข้างใน พระมหาเถระก็นำแก้วมรกตนั้นมาสลักให้เป็นพระพุทธรูป เมื่อเสร็จแล้วก็มีพิธีฉลองสมโภชพระแก้วมรกต และตั้งชื่อวัดม่อนดอนเต้าเป็น “ วัดพระแก้วดอนเต้า ” มาจนทุกวันนี้ จากนั้นมีเสียงเล่าลือว่า พระมหาเถระกับนางสุชาดาเป็นชู้กัน ความทราบถึงอำมาตย์ผู้ปกครองนครนี้ และโดยที่ไม่ได้ไต่สวน ความจริงให้ปรากฏ จึงทรงกราบบังคมทูลให้เจ้านครทราบ และมีบัญชาให้เพชฌฆาตนำนางสุชาดาไปฆ่าเสีย ณ ริมฝั่ง แม่น้ำวัง โดยก่อนที่นางสุชาดาจะถูกประหารก็ได้อธิษฐานว่า หากนางเป็นชู้กับพระมหาเถระจริง ก็ขอให้เลือดตกลงพื้นดิน แต่ถ้าหากไม่มิได้เป็นชู้ ก็ขออย่าให้เลือดพุ่งขึ้นสู่อากาศ เมื่อเพชฌฆาตลงดาบปรากฏว่าเลือดของนางพุ่งสู่อากาศโดยไม่ตกลงพื้นดินเลย เจ้านครเมื่อทราบเรื่องนี้ก็ทรงเสียพระทัย และขาดใจตายในเวลาต่อมา จากนั้นพระมหาเถระก็หนีออกจากวัดพระแก้วดอนเต้าไปพักอยู่ที่วัดสัมภะกัปปะ (วัดพระธาตุลำปางหลวง) พร้อมกับนำเอาพระแก้วมรกตไปด้วย พระแก้วมรกตจึงประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงมาจนทุกวันนี้ คราวนี้ก็มารับรู้เรื่องราวประวัติพระแก้วมรกตจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน อาจเป็นตำนานภาคชาวบ้านที่บอกเล่าสืบต่อกันมารวมถึงข้อสังเกตจากพระเกจิอาจารย์ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเหนือ และได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ ขอเริ่มจากที่มาของพระแก้วมรกตที่กรุงเทพ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองลำปางตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้บันทึกไว้ว่า พระแก้วมรกตหรือพระพุทธมหามณีรัตปฏิมากรนั้น ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่หลายประเทศและหลายเมืองของไทยในอดีต ตั้งแต่ ศรีลังกา นครธม (ยุคอาณาจักรขอม) กรุงอโยธยา หลวงพระบาง(ประเทศลาว) กำแพงเพชร เชียงราย เขลางค์ นคร(ลำปาง) เชียงใหม่ กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร ดังนั้นเขลางค์นคร หรือเมืองลำปาง จึงถือเป็นเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่วัดพระแก้วที่กรุงเทพในปัจจุบัน ตามประวัติพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้ว กรุงเทพ นั้น ครั้งหนึ่งเคย ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง นานถึง 32 ปี หรือจาก พ.ศ. 1879 – 2011 เหตุที่มีความเกี่ยวข้องกับ จังหวัดลำปางก็เพราะเมืองเชียงราย ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตอยู่นั้นเกิดสงคราม เจ้าเมืองเชียงใหม่ (ถือเป็นเจ้าแห่ง อาณาจักรล้านนา) จึงจัดขบวนช้างให้อัญเชิญมาอยู่ที่เชียงใหม่เพื่อความปลอดภัย แต่เมื่อขบวนมาถึงเมืองลำปาง ช้างที่อัญเชิญพระแก้วมรกตเกิดไม่ยอมไป แม้จะเปลี่ยนเป็นช้างเชือกอื่น และควานช้างจะปลอบโยนอย่างไรแล้ว ก็ยังไม่ยอมไปอยู่ดี เจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีความเชื่อในโชคลาง จึงอนุโลมให้ประดิษฐานไว้ที่วัดดอนเต้าเป็นการชั่วคราว พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่เมืองลำปางมาเป็นเวลาหลายปี จนชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา บางคนก็ถือว่าเป็นบุญบารมีของของชาวลำปาง ที่มีโอกาสได้กราบไหว้พระแก้วมรกตองค์สำคัญที่มีลักษณะงดงาม และการที่ขบวนช้างขบวนม้าไม่ยอมเดินทางต่อไปยังเมืองเชียงใหม่นั้น ก็เชื่อกันว่าเป็นเพราะพุทธานุภาพของพระแก้วมรกต เป็นความประสงค์ที่จะอยู่เมืองลำปาง ปี พ.ศ. 2011 พระเจ้าติโลกราช เจ้านครเชียงใหม่เห็นว่า พระแก้วมรกตเป็นสมบัติล้ำค่าจึงได้อาราธนาอัญเชิญมายังนครเชียงใหม่ ที่เปรียบเสมือนเป็นเมืองเอกแห่งล้านนา รวมระยะเวลาที่อยู่เมืองลำปางนานถึง 32 ปี 32 ปีที่พระแก้วมรกตอยู่ที่เมืองลำปาง ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าเสมือนหนึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองลำปาง และเมื่อต้องไป ประดิษฐานอยู่เมืองเชียงใหม่ก็เกิดความรู้สึกเสียดายและหวงแหน จึงเห็นว่าน่าจะมีการจำลองพระแก้วมรกตเพื่อให้ชาว ลำปางได้กราบไหว้สืบไป และได้นำมาประดิษฐานที่วัดลำปางหลวงในเวลาต่อมา นี่เป็นความเข้าใจในตำนานพระแก้วมรกตฉบับของชาวบ้าน แม้ตำนานพระแก้วมรกตจากหนังสือที่พิมพ์จำหน่าย กับ คำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ของเมืองลำปาง จะแตกต่างกัน แต่คำบอกเล่าของชาวบ้านก็น่าเชื่อถือไม่น้อย และดูจะมีน้ำหนักมากกว่าที่ว่าพระแก้วมรกตมีที่มาจากแก้วมรกตที่พบในผลแตงโม ที่นางสุชาดา(เทวดาจุติมาเกิด) นำมาถวายให้พระเถระ ที่จำพรรษาอยู่วัดดอนเต้า และต่อมาก็ถูกชาวบ้านกล่าวหาว่าทั้งสองเป็นชู้กัน ยังมีข้อสังเกตอีกด้านหนึ่งจากพระเกจิของภาคเหนือ บอกว่า จริงๆแล้วพระแก้วมรกตที่วัดพระธาตุลำปางหลวงนั้นน่าจะเป็นองค์จริง ส่วนที่อัญเชิญไปเมืองเชียงใหม่นั้นเป็นองค์จำลอง โดยอ้างเหตุผลว่า คนโบราณเค้ามักจะทำองค์จำลองขึ้นมาคู่กัน เสมอ และจะเก็บรักษาองค์จริงไว้ในที่ปลอดภัยเช่นฝังไว้ยังใต้ฐานเจดีย์ และเป็นไปได้ว่าพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากเมืองเชียงรายนั้นถูกปกปิดอย่างมิดชิด เนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราวและเกรงว่าไม่ปลอดภัย จึงน้อยคนนักที่จะเห็นองค์พระที่แท้จริงได้ พร้อมกับบอกว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ชาวเมืองลำปางจะรักและหวงแหนองค์จริง จึงมีการจำลองและสับเปลี่ยนกับองค์ ที่อัญเชิญไปอยู่เมืองเชียงใหม่ พร้อมกับปกปิดไม่แพร่งพรายให้ใครรู้ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในเมืองไทยมักมีความไม่แน่นอนเสมอ หลายครั้งหลายเรื่องราวถูกเขียน ถูกกำหนดขึ้นมาเองด้วยเหตุผลบางประการ หรือแม้แต่ประวัติพระเจ้ากรุงธนบุรี สวรรคตด้วยท่อนจันทร์ หรือถูกพาหลบหนีไปอยู่ที่อื่น ก็ยังเป็นปริศนาอยู่ทุกวันนี้ ดังนั้นเรื่องราวของพระแก้วมรกตที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ก็อาจเป็นตำนานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นปริศนาเช่นกัน พระแก้วมรกตองค์ปัจจุบันที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 ผมได้มาถ่ายภาพพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่กุฏิพระแก้ว ซึ่งเป็นอาคารไม้เก่าแก่ และไม่พบที่มาว่าสร้างเมื่อใด เดิมเป็นกุฏิของเจ้าอาวาสองค์ ก่อนๆที่หากพระรูปใดได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแล้วก็จะต้องมาจำพรรษาอยู่กุฏิ หลังนี้ อาคารหลังนี้จึงเหมือนกับเป็นทั้งกุฏิเจ้าอาวาสและห้องรับแขกของวัดโดย ปริยาย นอกจากจะเป็นกุฏิเจ้าอาวาสแล้ว ็ยังเป็นที่เก็บสิ่งของมีค่า ของโบราณๆต่างๆ มากมาย เช่นศาสตราอาวุธสมัยที่ยังรบกับพม่า ของใช้โบราณที่ชาวบ้านนำมา ถวายวัด พระพุทธรูปเก่าแก่ และที่สำคัญยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองลำปางอีกด้วย ปัจจุบันกุฏิพระแก้วเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต แต่ก็มีการสร้างลูกกรงเหล็ก ถึง 2 ชั้นอย่างแน่นหนา พูดตามประสาเด็กที่มาเห็นก็บอกว่าพระติดคุก และเป็นอยู่แบบนี้มานานหลายสิบปีแล้ว ชาวบ้านบอกว่าในอดีตนั้นพระแก้วมรกตอยู่ในวิหารหลังอื่น ไม่ได้อยู่ที่กุฏิหลังนี้ แต่ในอดีตเกือบถูกโจรกรรม จึงอัญเชิญมาไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาส เพื่อจะได้มีคนอยู่เฝ้าและเห็นว่าปลอดภัยที่สุด ครั้นเมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่แล้วก็ยังถูกขโมยงัดฝาไม้ด้านหลังกุฏิ จึงสร้างลูกกรงไว้ชั้นหนึ่ง ต่อมามีการพยายามจะขโมยพระแก้วมรกตอยู่หลายครั้ง จนต้องสร้างลูกกรงเพิ่มขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เหมือนกับที่เห็นในปัจจุบัน อาจเป็นเรื่องแปลกที่พระคู่บ้านคู่เมืองควรประดิษฐานไว้ในที่สง่างามกลับต้องมาอยู่ในลูกกรงเหล็ก พระคู่บ้านคู่เมืองอื่นที่เคยพบเห็นก็ไม่ลักษณะที่ต้องตราตรึงกันอย่างแน่นหนาแบบนี้ อาจเป็นเพราะเห็นว่าเป็นพระองค์ใหญ่ คงยกไปลำบาก ส่วนพระแก้วมรกตที่นี่ องค์ไม่ใหญ่นัก สูงประมาณ 50 เซนติเมตร และเป็นเนื้อแก้วมรกตที่หายาก จึงเป็นที่หมายปองของพวกนิยมของเก่าเป็นอันมาก ผู้ที่เคยมานมัสการพระแก้วมรกตบอกว่า “ ทางวัดเค้าห้ามถ่ายภาพนะ “ ยังแปลกใจว่าผมถ่ายภาพมาได้ยังไง ก็บอกว่า “ ไม่เห็นมีป้ายบอกห้ามเลย นักท่องเที่ยวที่มาก็ถ่ายภาพกัน จ้าหน้าที่วัดที่ประจำตู้รับบริจาคแถวนั้นก็ไม่เห็น ทักท้วง ” ก็เลยสงสัยว่า ภาพที่ผมถ่ายมานั้น น่าเป็นองค์จำลอง (อีกแล้วครับท่าน) บอกว่าเมื่อก่อนนี้จะมี 2 องค์ ตั้งอยู่คู่กัน องค์จริงอยู่หลังและอยู่ในตู้กระจก ส่วนองค์จำลองอยู่อยู่ด้านหน้า แต่วันที่ผมถ่ายภาพมานั้นเห็นแค่องค์เดียว จึงสันนิษฐานว่าองค์จริงนั้นคงเก็บไว้ในที่อื่นแล้ว ผมคงไม่ไปค้นหาความจริงในเรื่องนี้จากใครๆ เพราะเท่าที่ทราบนั้น คงน้อยคนนักที่จะรู้ความจริง และก็เชื่อว่าคนที่รู้ก็คงไม่มีใครยอมเปิดเผยแน่ พระแก้วมรกตที่วัดลำปางหลวง จึงยังคงเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้ และหากเป็นจริงตามคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ ก็เป็นไปได้ว่า เรื่องนี้เป็นปริศนามาแต่ยุคอดีต และมีการเขียนตำนานขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ดูสมเหตุสมผลขึ้น เรื่องราวของพระแก้วมรกตที่เขียนมาแต่ต้นก็ด้วยเจตนาจะเล่าเรื่องราวต่างๆ เพื่อประกอบการเดินทางท่องเที่ยว ไม่ได้มีเจตนาจะไปงัดค้างหรือสร้างความสับสนกับหลักฐานตามที่ปรากฏ เพียงแต่ต้องการนำสิ่งที่ทราบนั้นมาบอกเล่า เพื่อให้เกิด มุมมองที่หลากหลาย และภาพที่ปรากฏอยู่ด้านล่างนี้ อาจสนับสนุนคำบอกเล่านั้นได้มากพอสมควรเลยทีเดียว เมื่อปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆพร้อมกับเปิดดูหนังสือของวัด ที่เป็นภาพถ่ายพระแก้วมรกตทรงเครื่อง 3 ฤดู คือฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ก็ยิ่งทำให้อดคิดไม่ได้ว่า พระแก้วมรกตที่วัดพระธาตุลำปางหลวงและที่กรุงเทพ มีส่วนเกี่ยวข้อง กันหรือไม่ ทำไมหลายสิ่งหลายอย่างจึงดูคล้ายๆกัน (ภาพพระแก้วมรกตที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จากหนังสือของวัดที่พิมพ์จำหน่าย) สำหรับวัดพระธาตุลำปางหลวงในตอนต่อไปจะพาไปสรงน้ำพระธาตุอันเป็นประเพณีเก่าแก่ เป็นการสักการะพระธาตุ ในเทศกาลขึ้นปีใหม่ไทยหรือเทศกาลสงกรานต์ และถือเป็นต้นตำรับการสรงน้ำพระธาตุที่ต่อมาหลายวัดหลายจังหวัดทางภาคเหนือได้นำไปเป็นแบบอย่าง ในประเพณีสงน้ำพระธาตุคราวนั้น (เมษายน 2548 ) ได้ถ่ายภาพไว้ค่อนข้างมาก แต่ก็มีอยู่ภาพหนึ่งที่ยังสงสัยว่าพิธีบางอย่างเป็นการกระทำที่ลบหลู่พระพุทธรูปสำคัญหรือไม่ จะเป็นภาพอะไรนั้น ก็ต้องรอพบกับเรื่องราวของวัดพระธาตุลำปางหลวงในภาคที่ 3 ที่จะนำเสนอต่อจากเที่ยวเมืองน่าน