นางสมจิต สุขสมบัติ เป็นผู้เลื่อมใสพระพุทธศาสนา สละแรงกาย ทุนทรัพย์ ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยร่วมรักษาศีล เจริญภาวนา ในวันพระ เทศกาลเข้าพรรษา และช่วยกิจการงานบุญของวัด เช่น การจัดดอกไม้ ทำบายศรี ช่วยหุงข้าว ทำกับข้าว หรือล้างจานในโรงครัว ในเทศกาลต่างๆ แต่ที่ได้ทำสม่ำเสมอคือการช่วยทำบายศรีในพิธีบวงสรวงของทางวัด เนื่องจากมีความถนัดในด้านนี้ และมีความรู้เรื่องความแตกต่างของการใช้บายศรีในงานพิธีต่างๆ อีกทั้งยังถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจด้วย
การศึกษา ชีวิต และการทำงาน
นางสมจิต สุขสมบัติ มีพื้นเพอยู่ในตำบลหนองดินแดง ได้ติดตามมารดาไปช่วยงานบุญที่วัดอยู่เสมอ หากงานใดมีการทำดอกไม้สด บายศรี ก็จะสนใจเป็นพิเศษ ระยะแรกก็จะคอยสังเกตช่วยงานที่ตนทำได้ จนผู้ใหญ่ที่ดูแลการทำบายศรีเห็นความตั้งใจ จึงสอนขั้นตอนการทำบายศรี ในแต่ละครั้งที่เริ่มลงมือทำบายศรีครูก็จะให้ทุกคนจุดธูปเทียนบูชาเทวดาและ ครูบาอาจารย์ทุกครั้ง โดยเริ่มจากหัดพับใบตอง เย็บกระทง และขั้นตอนการประกอบบายศรีชนิดต่างๆ การคัดเลือกใบตองดอกไม้มงคลตามความเชื่อ และนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในงานพิธีและเผยแพร่ในปัจจุบัน
องค์ความรู้
นางสมจิต สุขสมบัติ ให้ความเห็นว่าจากคำบอกเล่าของครูนั้น การทำบายศรี อาจได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิพราหมณ์ ใช้ในพิธีสังเวยบูชา และพิธีทำขวัญต่างๆ ทั้งในพระราชพิธีและของประชาชนทั่วไป เช่นพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยเทพเทวดา พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต และพระราชพิธีต่างๆ ส่วนการใช้บายศรีของราษฎรทั่วไปมักเป็นงานมงคลเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบูชาเทพเจ้าเทวดาต่างๆ เช่นงานบูชาเทพเจ้าในงานมงคลต่างๆ การตั้งศาลพระภูมิ การยกเสาเอก และรวมถึงการทำขวัญต่าง เช่นการทำขวัญนาค การสู่ขวัญบ่าวสาวฯ การทำบายศรีเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้สมาธิ ต้องมีความตั้งใจ พร้อมด้วยความปราณีต มีความเชื่อว่าเป็นศิริมงคลกับผู้ทำบายศรี และแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ ด้านประเพณีวัฒนธรรมของคนไทย อยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้สืบทอดต่อๆไป
การถ่ายทอดความรู้
แนวคิดการถ่ายทอดความรู้โดยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จดจำ ปราณีต บรรจง ตามแบบแผน ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา พร้อมทั้งสืบทอดต่อไปให้แพร่หลาย เป็นการสร้างศรัทธา สร้างความสามัคคี ให้เกิดประโยชน์ให้กับชุมชน โดยถ่ายทอดความรู้ให้แก่
• นักเรียนระดับประถม - มัธยมศึกษา ในเขตเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ
• ประชาชน
• ผู้สูงอายุ
เนื้อหาการถ่ายทอดความรู้
โดยสรุปแล้ว มีเนื้อหาสาระการถ่ายทอดความรู้ดังนี้
• บายศรีที่นิยมใช้ในท้องถิ่น
• การคัดเลือกใบตอง ดอกไม้ และอุปกรณ์ต่างๆ
• ขั้นตอนการประดิษฐ์บายศรีจากใบตอง
วิธีการถ่ายทอดความรู้
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้ดำเนินการดังนี้
• บรรยายเกี่ยวกับความเป็นมา ความเชื่อ การใช้บายศรีในโอกาสต่างๆ
• สาธิตขั้นตอนกระบวนการประดิษฐ์บายศรีตามลำดับขั้นตอน
• การส่งเสริมและปลูกฝังให้เด็กและเยาวชน มีความรู้ มีความศรัทธาปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และอุทิศความรู้ แรงงาน ในงานส่วนรวมของชุมชนและงานด้านศาสนาที่เป็นศูนย์รวมของชุมชน