การทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านพันนา(ผ้าย้อมคราม) ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ได้นำแนวคิด หลักการ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่โบราณในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ โดยได้ร่วมกลุ่มกันของสตรีที่ต้องการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง จึงได้นำแนวคิดการทำผ้าย้อมครามที่มีมาในอดีตยาวนานร่วมกว่า 6,000 ปี ในดินแดนแถบเส้นศูนย์สูตร ได้แก่ อเมริกาใต้ แอฟริกา ยุโรปตอนใต้ ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้/เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะได้สีครามที่แตกต่างกัน
ประเทศไทย ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีการใช้ผ้าย้อมครามตั้งแต่เมื่อใด แต่มีการผลิตและใช้กันในชนเผ่าภูไท สกลนครเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าย้อมคราม และพัฒนาผ้าย้อมครามให้มีมาตรฐานสามารถนำผลิตภัณฑ์ผ้าครามจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าแทรกตลาดที่กำลังหันกลับมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารเคมีและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านพันนา บ้านพันนา หมู่ที่1 ตำบลพันนา อำเภอ สว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531
เนื่องจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสว่างแดนดิน เข้ามาส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แก่ชุมชน โดยแนะนำให้สตรีในหมู่บ้านรวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรม ด้านการทอผ้า ที่ชาวบ้าน มีความรู้และทอผ้าไว้ใช้เองในครัวเรือนอยู่แล้ว เพียงแต่ต่างคนต่างทำ และไม่มุ่งหวังทางด้านการตลาด ซึ่งขณะนั้น ชาวบ้าน พันนาได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นแต่ยังไม่มีกิจกรรมกลุ่มอย่างชัดเจน มีสมาชิกครั้งแรก 34 คน
พ.ศ. 2535 สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสว่างแดนดิน ได้เข้าไปกระตุ้น ทบทวนกลุ่มที่ได้จัดตั้งไว้ และให้ส่งเสริมด้านการทอผ้าไหม ตามโครงการพัฒนาอาชีพโดยองค์กรสตรี งบประมาณ 25,000 บาท สมาชิกกลุ่มได้ดำเนินการทอผ้าแต่ยังมีปัญหาด้านการตลาดและการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์
พ.ศ. 2536 ได้รับงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน ฝึกอบรมด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม, ผ้าฝ้าย โดยใช้วิทยากรที่เป็นผู้นำในท้องถิ่น ผลการฝึกอบรม กลุ่มแปรรูปได้ แต่ยังไม่มีตลาดรองรับ
พ.ศ. 2538 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร ได้เข้ามาฝึกอบรมการแปรรูป ผลิตภัณฑ์ เช่น ทำหมอน,กล่องทิชชู, กระเป๋า,ผ้าปูโต๊ะ ฯลฯ จึงเริ่มมีตลาดรองรับแต่อยู่ในวงแคบและ นางคำพูล สุราชวงศ์ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรี อำเภอสว่างแดนดิน (กพสอ.) และเป็นคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดสกลนคร ได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฝ่ายส่งเสริมอาชีพ ของคณะคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดสกลนคร โดยมี ดร.เพ็ญศักดิ์ จักษุจินดา เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดสกลนคร ดร.เพ็ญศักดิ์ จักษุจินดา ได้คิดริเริ่มหาแนวทางและวิธีการที่จะส่งเสริมสนับสนุนอาชีพสตรีในจังหวัดสกลนคร เพื่อสร้างอาชีพเสริมและเสริมรายได้แก่ครอบครัวและชุมชนนอกภาคการเกษตร จึงมอบหมายให้ นางละมุล เร่งสมบูรณ์ ร่วมกับ นางคำพูล สุราชวงศ์ ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการฝ่ายส่งเสริมอาชีพ ในระยะเริ่มต้นยังไม่มีกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม แต่คณะกรรมการ ฝ่ายส่งเสริมอาชีพยังดำเนินกิจกรรมต่อไปอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2540 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร ได้ฝึกอบรมเรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม ด้านบัญชีและการบริหารทั่วไป และสำนักงานพัฒนาชุมชน ได้นำไปทัศนศึกษาดูงานด้านการย้อมสีธรรมชาติที่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร และจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. 2542 กลุ่มเริ่มก้าวเข้าสู่ระบบธุรกิจโดยร่วมกับบริษัทซัลเวิลด์ เทรดดิ้ง จำกัดซึ่งมี นางละมุล เร่งสมบูรณ์ เป็นเจ้าของกิจการ ได้มอบหมายให้กลุ่มผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านพันนาเป็นฝ่ายผลิตสินค้าส่งให้บริษัทกลุ่มจึงเริ่มมีการหาสมาชิกในลักษณะเครือข่ายกลุ่มอาชีพ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่คณะกรรมการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน (กพสม.) ในเขตจังหวัดสกลนครร่วมกันผลิตสินค้าประเภทผ้าทอมือที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีโอกาสจำหน่ายในระดับประเทศและส่งออกต่างประเทศเป็นครั้งแรก
พ.ศ. 2543 ได้รับงบประมาณจากศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ฝึกอบรมเรื่องการย้อมสีธรรมชาติและการทอผ้า และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 จังหวัดอุดรธานี ได้รับกลุ่มเข้าโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมชนบท (สอช.)
กิจกรรมของกลุ่มมุ่งใน การทอผ้าย้อมสีธรรมชาติแต่ก็ประสบปัญหามากมายในกระบวนการย้อมสี และจับกระแสการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารเคมีและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ฟื้นฟูและพัฒนาการทอผ้าย้อมครามอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2545 มาโดยตลาดจนถึงปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านพันนา จึงนับว่าเป็นกลุ่มอาชีพต้นแบบของจังหวัดสกลนคร และเป็นศูนย์การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าคราม
ลักษณะที่โดดเด่นของผ้าย้อมคราม เป็นผ้าย้อมจากน้ำครามที่ผ่านกระบวนการที่สลับซับซ้อนและ ผู้ย้อมต้องมีทักษะด้านการย้อมคราม ที่เกิดจากการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากคนรุ่นก่อนสู่รุ่นปัจจุบัน การย้อมผ้าด้วยครามจะได้เนื้อผ้าสีคราม สวยตามแบบธรรมชาติ และครามได้ผ่านการทดสอบจากคนรุ่นก่อนแล้วว่ามีคุณสมบัติป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UV) ได้เป็นอย่างดี