ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 9' 5.8806"
13.1516335
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 57' 25.997"
99.9572214
เลขที่ : 104035
นายชอน พวงมาลัย
เสนอโดย พิเชษฐ สวจ.เพชรบุรี วันที่ 21 กรกฎาคม 2554
อนุมัติโดย เพชรบุรี วันที่ 13 ธันวาคม 2554
จังหวัด : เพชรบุรี
6 5700
รายละเอียด

นายชอน พวงมาลัย เกิดวันที่ 2 มกราคม 2468 อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ 5 ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรคนที่3 ในจำนวน 5 คน ของนายเรือง และนางเลี่ยม ประกอบอาชีพทำนา และเป็นแพทย์แผนไทยด้วย เมื่อเยาว์วัยเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดบันไดทอง (วิเศษศึกษา) ซึ่งอยู่ติดกับบ้านนายชอน โดยมีสะพานข้ามแม่น้ำ สำหรับไว้ข้ามฟากไป - มาถึงกันโดยสะดวก นายชอนจึงมีความสนิทสนมกับพระวัดทอง อันเป็นสถานที่เรียนหนังสือ และสถานที่วิ่งเล่น ท่านได้รับความรู้เรื่องการรักษาโรคมาจากบรรพบุรุษ เริ่มรักษาคนมาตั้งแต่ปี 2494 การรักษานั้นใช้วิธีตรวจชีพจรหรือที่เรียกกันว่า แมะ สัมผัสระหว่างมือกับเท้า ก็สามารถรู้จุดบกพร่องสาเหตุของร่างกาย และมีผลงานด้านสุขภาพอนามัยของชุมชนอย่างเช่น โครงการยาฉุกเฉินหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และปี พ.ศ.2499 ได้บวชเป็นเวลา 1 พรรษา จึงลาสิกขามาช่วยกิจการทางบ้านพร้อมกับฝึกฝนงานด้านรักษาโรคตามแบบแพทย์แผนไทยจากบิดา จนสามารถตรวจรักษาและวินิจฉัยโรคแทนบิดาได้ ครั้นต่อมาเมื่อบิดาเสียชีวิต ก็ได้รับหน้าที่เต็มตัว จนทางราชการได้แต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำตำบลตั้งแต่ปี 2516 และทำหน้าที่มาโดยตลอดจนถึงเกษียณอายุ แม้จะลดบทบาทลง แต่ก็คงทำหน้าที่อื่นๆ เป็นส่วนตัวในแนวเป็นบุญกุศลสงเคราะห์ นายชอน พวงมาลัย หมอผู้มีปริญญาเป็นหมอนักบุญที่ชาวเมืองเพชรให้ความเคารพนับถือและยกมือไหว้ได้อย่างสนิทใจ หมอชอน พวงมาลัย สืบเลือดเนื้อเชื้อไขมาจากบรรพบุรุษได้รับการถ่ายทอดวิชาแพทย์แผนโบราณ ชีวิตจึงตกอยู่ในสภาพของหมอกลางบ้าน ที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอุดมการณ์ของบิดา ชีวิตจึงถูกคนทั่วไปมองด้วยความดูถูกเย้ยหยันตลอดมา แต่ชีวิตที่อยู่กับความยากจนมันสอนให้เขารู้จักกับการต่อสู้ เคยอาศัยนอนศาลาวัดพร้อมด้วยลูกและเมีย ไปอาศัยที่ดินของเพื่อนบ้านปลูกกระต๊อบก็ถูกเจ้าของที่พูดจาเยาะเย้ยว่า ที่ซุกหัวนอนของมึงเอาไว้ปลูกขิงข่าตะไคร้ยังมีประโยชน์กว่า ก็เลยหอบลูกและเมียมาอาศัยศาลาวัดนอนอย่างเก่า แต่จิตใจก็ไม่ได้คิดโกรธเจ้าของที่ดินผู้นั้นแต่อย่างใด เพราะคิดว่าตัวเองสร้างกรรมมาแต่ชาติปางก่อน จวบจนกระทั่งอายุได้ 22 ปี กำลังหนุ่มหลังจากที่ร่ำเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณจนสำเร็จการศึกษาโดยมีคุณพ่อเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาให้ แรกเริ่มเดิมทีก็รักษาคนไข้อยู่ภายในหมู่บ้าน คนไข้ที่ไปขอรับการรักษาโรคเกิดหายจากโรคภัยไข้เจ็บทุกราย ทำให้กิตติศัพท์ความสามารถในทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บก็ดังระเบิดจนชาวบ้านให้สมญานามว่า หมอเทวดา ปากต่อปากชื่อเสียงของหมอชอนเลยดังไปทั่วประเทศวัน ๆ มีคนไข้จากทุกสายอาชีพไม่ว่าเศรษฐี ยาจกต่างก็พากันมุ่งหน้าไปขอรับการรักษากับหมอชอนที่วัดบันไดทอง ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอเมืองเพชรบุรี นอกจากรักษาโรคภัยได้เก่งแล้ว ยังเก็บค่ายาถูกแสนถูก 5 บาท 10 บาท 20 บาท เท่านั้นใครไม่มีก็ไม่เอาแถมส่งค่ารถกลับบ้านอีกด้วย

อุปนิสัยของหมอชอนนอกจากมีอารมณ์ขันแล้วหมอชอนยังมีลักษณะพิเศษ คือ ขี้คุย ถึงจะคุยมากน้อยอย่างไรหมอชอนก็ทำตามสิ่งที่คุยไว้ได้ทุกเรื่องไป สิ่งที่ชอบคุยบ่อย ๆ คือ "คุยเรื่องการกุศล" ส่วนเรื่องการเชิดหนังตะลุงหมอชอนก็มีฝีมือใช่ย่อยมีคณะหนังตะลุงของตนเองชื่อคณะ"ช. บันเทิงศิลป์" ทุกวันนี้ตัวหนังตะลุงทุกตัวหมอก็เก็บรักษาไว้อย่างหวงแหน ถ้ามีงานการกุศลและต้องการหนังตะลุงไปแสดงติดต่อได้เลย เพราะอาชีพเชิดหนังตะลุง คุณหมอก็ติดแบบยาเสพติดเหมือนกัน หมอชอนได้รับรางวัลที่ 1 จากกระทรวงมหาดไทย ในฐานะนักพัฒนาการและให้ความช่วยเหลือประชาชนดีเด่น ทุกวันนี้หมอชอนมีความสุขอยู่กับการเป็นประธานกรรมการมูลนิธิ เป็นเลขานุการ เป็นประธานลูกเสือชาวบ้าน เป็นมัคนายก รวมแล้วนับร้อยแห่งจนตัวเองจำไม่หวาดไหว นอกจากนั้นเงินทองที่ได้รับจากคนไข้เป็นค่ายา ก็นำไปบริจาคมูลนิธิต่าง ๆ โรงเรียนทั้งจังหวัดเพชรบุรี ทุนการศึกษา ทุนอาหารกลางวันเด็ก หมอบริจาคไปแล้วนับสิบล้านบาท เก็บเอาไว้กันไว้ใช้บ้างเพียงเล็กน้อย

ผลของการทำงานของนายชอน พวงมาลัย มีดังนี้

1. ด้านแพทย์แผนไทย นอกจากหมอชอนจะได้รับการถ่ายทอดตำราแพทย์แผนไทยจากบรรพบุรุษแล้ว ยังได้เล่าเรียนและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเรื่องสรรพคุณของยาสมุนไพรต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบมาตลอดชีวิตยาวนาน จนสามารถตั้งเป็นโรงงานผลิตยาขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจการตรวจ-รักษาอย่างเป็นรูปธรรม เพราะตัวยาแต่ละชนิด แต่ละอย่างมีวิธีใช้และสรรพคุณไม่เหมือนกัน การตรวจโรค การวินิจฉัยแล้วจ่ายยา จะต้องมีความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดผลดีในการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพถูกต้องกับอาการของโรค จึงจะได้ผลดี ทำให้โรคภัยที่เป็นอยู่ได้บรรเทาเบาบางหรือหายขาด เมื่อหมอชอน พวงมาลัย มีอายุสูงขึ้น จำเป็นต้องรักษาสุขภาพ ไม่สามารถนั่งตรวจรักษาผู้มาขอรับบริการครั้งละนานๆ ได้ ซึ่งเคยมีผู้ป่วยมารับการตรวจรักษามากมายจากทั่วสารทิศ ถึงวันละเป็นร้อยๆราย จึงได้มอบหมายงานให้บุตรสาว คือ คุณฉัตรวนิช พวงมาลัย ทำงานแทน คุณฉัตรวนิช ได้ขยายการผลิตเป็นโรงงานครบวงจร สามารถผลิตยาที่ใช้วัสดุล้วนเป็นสมุนไพรธรรมชาติ บรรจุแคปซูลด้วยเครื่องจักรทุ่นแรงอย่างทันสมัย หลากหลายชนิดจากสูตรยาของแพทย์แผนไทย มียาต่างๆ ที่ใช้ได้ผลเพื่อบำบัดและรักษาโรคผ่านการตรวจและรับรองของทางราชการและ อย. และมีคนงานประจำทำการประมาณ 20 คน การตรวจรักษาจ่ายยาของหมอชอน ได้รับการยกย่องเชื่อถือจากมหาชนมาโดยตลอด จึงได้รับการเรียกขานว่า "หมอสิบทิศ" ซึ่งเป็นการตรวจรักษาให้เปล่า เพียงคิดค่ายารักษา ใกล้เคียงกับราคาทุนที่ลงไปเท่านั้น ส่วนรายได้ที่อาจเกินเลยบ้างนั้น เมื่อรวบรวมได้เป็นกอบเป็นกำ หมอชอนก็จะบริจาคให้กับการกุศลทั้งสิ้นในรูปแบบต่างๆ

2. ด้านศิลปะการแสดงได้สร้างวงพิณพาทย์และตั้งคณะหนังตะลุง หมอชอน พวงมาลัยยังชื่นชม ซาบซึ้ง มีชีวิตจิตใจ และนิยมยกย่องผู้มีความสามารถในด้านดนตรีไทยมาแต่ไหนแต่ไร เมื่อเยาว์ความที่ชอบเสียงดนตรีหนังตะลุง ที่มีเครื่องบรรเลงไม่กี่อย่าง ได้เข้าร่วมเป็นลูกมือ ไต่เต้าจากคนตีกรับ ซึ่งให้ความรู้สึก เร้าใจตามลีลาของกลอง ตะโพน ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง และปี่ ด้วยวิสัยที่เกิดจากใจรัก จึงขอสมัครและติดตามคณะหนังตะลุงของคณะหมื่นเชิด เริ่มจากคนตีกรับ มีรายได้คืนละ 25 สตางค์ ถึง 50 สตางค์ แต่ก็มิได้เอาดี ทางดนตรี แต่ข้ามขั้นฝึกฝน จดจำ กระบวนการเล่นหนังตะลุงจากครูอย่างจดจ่อและเอาจริงเอาจังคิดตลอดเวลาว่าสักวันหนึ่งจะเป็นนายหนังให้จนได้ ด้วยฝีปากกลอน และชั้นเชิงในการเชิดหนังและพยายามฝึกปรืออยู่ตลอดเวลา สะสมความรู้ความสามารถ หลังจากคลุกคลีติดสอยเป็นลูกวงมาประมาณ 2 ปี ในที่สุดก็สามารถตั้งคณะและออกรับแสดงได้ โดยใช้ชื่อว่า หนังตะลุงคณะ ช.เจริญศิลป์ เมื่ออายุ 24 ปี รับงานในที่ต่างๆรายได้เหลือค่าตัวไม่เท่าใด เพราะจ่ายลูกน้องเกือบทั้งหมด การแสดงหนังของคณะนับว่าอยู่ในความนิยมตลอดมา เพราะตัวหนังสือหนังสวย ลีลา การแสดง ร้อง-เชิด ก็มีความสมบูรณ์พร้อมดุจ หมื่นเชิดผู้เป็นครู แม้ตัวหนังมีไม่ซ้ำแบบกัน มีอยู่หลายร้อยตัว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ประมาณ 200 ตัว หมอชอนเล่นหนังตะลุงเป็นงานอดิเรก และด้วยใจรักในศิลปะพื้นบ้านอยู่ยาวนานประมาณ 40 ปี คือ จนเมื่ออายุ 65 ปีก็ขอหยุด สำหรับด้านดนตรีหมอชอนท่านมีความชื่นชอบเรื่องพิณพาทย์เครื่องใหญ่และได้สร้างไว้เป็นสมบัติส่วนตัวสามารถจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องพิณพาทย์ได้ เฉพาะฆ้องวงมีถึง 27 โค้ง ถ้าจะนับอุปกรณ์ทั้งวง ก็จะต้องรวมผู้เล่น ผู้บรรเลงถึง 50 คนเป็นอย่างน้อย

วงพิณพาทย์เครื่องใหญ่ของคณะหมอชอน นับว่ายิ่งใหญ่ทั้งเครื่องและวงอย่างแท้จริง เพราะสามารถแยกเป็นวงเครื่องใหญ่ที่มีอุปกรณ์ครบเครื่องได้อีกถึง 3 วง วงพิณพาทย์ของหมอชอน เมื่อเจ้าภาพประสงค์จะให้นำไปแสดงที่ใดก็มิต้องปลูกโรงร้าน เพราะหมอชอนได้สร้างเวทีสำเร็จเป็นการถาวร สำหรับตั้งเครื่องเป็นชิ้นๆ ไว้อย่างเป็นระเบียบ สวยงาม ลดหลั่นลงตามบันได จึงสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย และการบรรเลงเจ้าภาพก็มีความสะดวกสบายใจด้วย เมื่อพูดถึงรายได้ที่พึงมีทั้งได้จากงานบริการเรื่องนี้ หมอชอนก็มิได้หักไว้เป็นส่วนตัวหรือเป็นค่าสึกหรอแต่อย่างใด คงมอบเฉลี่ยให้ทุกคนที่ร่วมงานไว้เป็นค่าแรงเพื่อหล่อเลี้ยงน้ำใจผดุงส่งเสริมศิลปะด้านนี้ให้จีรังยั่งยืนสืบไป

นอกจากนั้น นายชอน พวงมาลัย ยังได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหนังตะลุงระดับประเทศ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๓๓ ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยมีสมเด็จพระเทพรัตราชสุดาสยามบรมราชกุมารีเป็นองค์ประธาน ได้รับพระราชทานพวงมาลัยและเหรียญที่ระลึกจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และในปีนั้นหมอชอนได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาศิลปะการช่างศิลปะและการช่างฝีมือนายชอน พวงมาลัยนับเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของจังหวัดเพชรบุรี ท่านจบชีวิตลงเมื่อวันที่๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ ด้วยอุบัติเหตุหกล้มจนสะโพกร้าวทำการรักษาอยู่ 2 วัน รวมอายุ 80 ปี ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตราชสุดาสยามบรมราชกุมารีไดเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานเพลิงศพนายชอน พวงมาลัย ในวันที่ 12 มีนาคม 2548 เวลา 15.30 น. ณ เมรุวัดบันไดทอง อ.เมือง จ.เพชรบุรี

สถานที่ตั้ง
ตำบลท่าแร้ง
เลขที่ 67 หมู่ที่/หมู่บ้าน 5
ตำบล ท่าแร้ง อำเภอ บ้านแหลม จังหวัด เพชรบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
นายชอน พวงมาลัย
บุคคลอ้างอิง นางสาวลางสาด พุ่มดอกไม้
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี อีเมล์ petburi_culture@hotmail.com
ถนน ดำเนินเกษม
ตำบล คลองกระแชง อำเภอ เมืองเพชรบุรี จังหวัด เพชรบุรี รหัสไปรษณีย์ 76000
โทรสาร 032-424325
เว็บไซต์ 032-424324
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่