ข้าวหลามชักพรุด นั้นแรกเริ่มนั้นจะทำกันเฉพาะในงานประเพณี หรืองานประจำปีของหมู่บ้านในแต่ละถิ่น ข้าวหลามชักพรุดทำสืบทอดเป็นประเพณีกันมาหลายรุ่นตั้งแต่ครั้งรุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ จนมาถึงรุ่นลูก แรกเริ่มนั้นจะทำกันเฉพาะในงานประเพณี หรืองานประจำปี ปัจจุบันเริ่มทำออกไปแสดงเผยแพร่และจำหน่ายนอกสถานที่บ้างแล้ว
วัสดุ-อุปกรณ์ที่สำคัญ
๑.ไม้ไผ่โปะ
๒.ใบยี่เล็ด
๓.มะพร้าว
๔.ข้าวเหนียว
๕.พดพร้าว
๖.น้ำตาลทราย
๗. ต้นคล้าหรือท่อพีวีซี
๘. เกลือ
๙. ฟืน/ถ่าน
๑๐. เครื่องขูดมะพร้าว
๑๑. เครื่องคั้นกะทิ
๑๒. กะบะ
๑๓. พลัน(เครื่องมือสำหรับวางกระบอกเหนียวสำหรับหลาม ไฟ)
วิธีการทำ
๑. หาไม้ไผ่โปะ และใบยี่เล็ด มาเลื่อยหั่นเป็นท่อนๆเตรียมไว้ โดยใช้ส่วนล่างหรือโคนของไม้ไผ่เป็นส่วนก้นกระบอก
๒.ขูดมะพร้าว เพื่อปั้น(คั้น)เอาน้ำกะทิ เพื่อทำเหนียวหลามชักพรุด ทำข้าวหลามที่นี่หากใช้ข้าวเหนียว ๑ กก.ใช้น้ำกะทิ ๑ ลิตร ปั้นมะพร้าวทำน้ำกะทิ
๓. เตรียมหลุมถ่าน วางพลัน (ที่สำหรับวางกระบอกข้าวหลามในการย่าง-หลาม) เตรียมพด (เปลือก)มะพร้าว ใบตองสำหรับทำอุด(จุก)ปากกระบอกข้าวหลาม เตรียมกรีดใบยี่เล็ดออกเป็นสองซีก ม้วนใบยี่เล็ดกับต้นคลุ้มหรือท่อพีวีซี แยง(สอด)ใบยี่เล็ดใส่ในกระบอกไม้ไผ่ (การม้วนใบยี่เล็ดให้เริ่มต้นม้วนจากเส้นกลางใบด้วยต้นคล้า/คลุ้ม หรือท่อพีวีซี หากเริ่มม้วนจากขอบใบเมื่อแยงใบยี่เล็ดลงในกระบอกไม้ไผ่ ใบยี่เล็ดจะไม่คลี่ขยายวง ทำให้กรอกข้าวเหนียวไม่ได้)
๔.กรอกข้าวเหนียวที่ล้างสะอาดตั้งทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำด้วยมือลงในกระบอกไม้ไผ่ ๒-๓ ฝ่ามือแล้วทอก(กระแทก)ก้นกระบอกกับพื้นเบาๆ เพื่อให้เมล็ดข้าวเหนียวอัดเรียงตัวกันหลวมๆ ทำอย่างนี้จนกรอกข้าวเหนียวเกือบเต็มปากกระบอก เว้นไว้ประมาณ ๒ ข้อนิ้วมือ สำหรับอุดจุกปิดปากกระบอกหลังการกรอกน้ำกะทิ
๕.นำข้าวหลามไปวางพิงเอียงๆบนพลันที่เตรียมไว้ คอยหมุนกระบอกข้าวหลามอยู่เรื่อยๆเพื่อให้ได้รับความร้อนโดยทั่วเท่าๆกัน และคอยเปิดอุดดูน้ำกะทิและข้าวเหนียวอยู่บ่อยๆ หากน้ำกะทิแห้งแสดงว่าข้าวหลามสุกสามารถรับประทานได้