ความเป็นมา (ภมูิหลัง/ความเชื่อ)
ฟ้อนหางนกยูง เป็นศิลปะการฟ้อนรำของชาวนครพนมตั้งแต่อดีต ฟ้อนหางนกยูงถือกำเนิดขึ้นจากพิธีกรรมความเชื่อของชาวนครพนม ซึ่งมีความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม ของขลัง ความเชื่อเรื่องปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ความเชื่อในอำนาจสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น เชื่อเรื่องผีปู่ตา ผีตาแฮก ผีมเหศักดิ์หลักเมือง เชื่อกันว่าผีสามารถดลบันดาลให้มีความสุข ประสบผลสำเร็จในชีวิตได้ ถึงแม้พุทธศาสนาจะมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวจังหวัดนครพนม แต่ความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณก็ยังมีอยู่ โดยไม่มีการแยกความเชื่อเรื่องผีออกจากพุทธศาสนา จากพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับผีและพุทธศาสนาจึงเป็นจุดกำเนิดศิลปะการฟ้อนรำประจำจังหวัดนครพนม ได้แก่ ฟ้อนหางนกยูง ในอดีตจะฟ้อนในพิธีกรรมถวยเทียน เพื่อบูชาเจ้าหมื่นผีมเหศักดิ์หลักเมืองของชาวจังหวัดนครพนม และภายหลังฟ้อนเพื่อบูชาพระธาตุพระนม ซึ่งพิธีกรรมที่กล่าวมานี้นับว่าเป็นจุดกำเนิดของศิลปะการฟ้อนรำของชาวจังหวัดนครพนมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ตามคำบอกเล่ากล่าวว่า ประมาณหนึ่งร้อยปีเศษ ๆ โดยนายพัน เหมหงส์ ชาวนครพนม ท่านเป็นบุตรของอุปราชท่านหนึ่งในสมัยโบราณ เมื่อนายพัน เหมหงส์ ยังมีชีวิตอยู่ท่านมีชีวิตที่โลดโผนเป็นนักสู้เคยผ่านการสู้รบมาก่อนท่านสนใจในการฟันดาบ เพลงดาบ กระบี่กระบอง และมวย จนเป็นผู้ที่มีฝีมือเยี่ยมท่านหนึ่ง ยามว่างท่านชอบล่าสัตว์ป่า หมูป่า จึงสะสมของป่าเอาไว้ เช่น หางนกยูง แล้วนำมามัดเป็นกำ ๆ คิดประดิษฐ์ท่ารำขึ้นมา ซึ่งมีลีลาคล้ายกับการฟันดาบ แล้วนำไปถ่ายทอดให้ลูกหลานต่อไป
การฟ้อนหางนกยูงนี้ ในสมัยก่อนนิยมยำเดี่ยวบนหัวเรือแข่ง เมื่อมีงานประจำปีออกพรรษา มีความเชื่อว่าก่อนนำเรือเข้าแข่งจะนำเรือไปถวายสักการะเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าจะนำเรือเข้าแข่งขัน และต้องฟ้อนหางนกยูงเพื่อถวายต่อหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง การฟ้องหางนกยูงนี้ฟ้อนรำเฉพาะเรือแข่งที่สำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดังเท่านั้น ศิลปะการฟ้อนหางนกยูงนับเป็นการแสดงที่มีลีลาอ่อนช้อยสวยงาม
ในปี พ.ศ. 2491 นางเกษมสุข สุวรรณธรรมา ครูโรงเรียนอุเทนวิทยาคาร อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ได้ย้ายไปรับราชการที่โรงเรียนบ้านหนองจันทน์ ตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม มีนายทวี สุริรมย์ เป็นหลานของนายพัน เหมหงส์ ที่ได้รับการถ่ายทอดศิลปะการฟ้องหางนกยูงนี้ไว้ นางเกษมสุข จึงมีโอกาสและได้ขอถ่ายทอดการฟ้อนหางนกยูงนี้ไว้ตั้งแต่นั้นมา
ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2493 นางเกษมสุข ได้นำไปฝึกสอนให้แก่นักเรียนในโรงเรียนบ้านหนองจันทน์ ตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม และ เมื่อ พ.ศ. 2495 ก็ได้คิดประดิษฐ์ท่าฟ้อนหางนกยูงเพิ่มเติมอีกหลายท่า รวมทั้งได้ประยุกต์เพลงพื้นเมืองให้เหมาะสมในการฟ้องรำประเภทนี้เป็นคนแรกและได้ฝึกสอนมาจนถึงปัจจุบัน
อัตลักษณ์ที่โดดเด่น
ท่าฟ้อนหรือลีลาการฟ้อน
ศิลปะการฟ้อนจะประกอบด้วยท่าฟ้อนเป็นหลัก ในการฟ้อนรำแบบดั้งเดิมนั้นเป็นการฟ้อนที่มีมีแบบแผน ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเป็นผู้คิดประดิษฐ์ท่าฟ้อนขึ้นมาจากิริยาท่าทางที่เคยชิน หรือเห็นอยู่เป็นประจำ เช่น ท่าทางจากการดำนา การกินอาหาร การแต่งกาย เป็นต้น
และนอกจากนี้ยังได้ท่าทางจากธรรมชาติ จากสัตว์ เช่น ท่าเสือออกเหล่า ท่าเต่าลงหนอง ท่าแฮ้งตากขา ท่ากาตากปีก ท่าเหยี่ยวโฉบลูกไก่ เป็นต้น ท่าทางการฟ้อนรำที่กล่าวมาเหล่านี้จะใช้โอกาสต่าง ๆ เช่น ในงานเทศกาลบุญประเพณี งานบุญประจำปีใช้ประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ชาวบ้านจัดขึ้น นอกจากนี้ยังใช้ฟ้อนรำเพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินคลายเครียด จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าลีลาท่าฟ้อนของชาวอีสานมีพื้นฐานมาจากธรรมชาติและวิถีชีวิต มีความเป็นอิสระในการฟ้อนสูง ไม่มีระเบียบข้อบังคับที่ตายตัว ผู้ฟ้อนสามารถฟ้อนได้ตามใจตนเองโดยไม่ขัดเขิน เช่นเดียวกับการฟ้อนหางนกยูงในยุคที่ 1 สามารถจำแนกลีลาท่าฟ้อนได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
ลักษณะการฟ้อนแบบชาวบ้านและลักษณะการฟ้อนแบบฟ้อนดาบ
ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ
๑. คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
ฟ้อนหางนกยูงถือกำเนิดจากพิธีกรรมถวยเทียนเพื่อบูชาเจ้าหมื่นซึ่งเป็นผีมเหศักดิ์หลักเมืองของชาวนครพนม ผู้ฟ้อนจะฟ้อนบนหัวเรือแข่ง ที่จะเข้าร่วมแข่งขันในเทศกาลแข่งเรือออกพรรษาของชาวจังหวัดนครพนม จากการเปลี่ยนทางสังคม และวัฒนธรรมได้แก่ การศึกษา เศรษฐกิจ และการรับเอาวัฒนธรรมอื่นเข้ามาในชุมชน ทำให้พิธีกรรมถวยเทียนซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการฟ้อนหางนกยูง เลือนหายไปจากสังคมเมืองนครพนม ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 เมื่อพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวนครพนม ทางจังหวัดนครพนมจึงได้จัดฟ้อนหางนกยูง เป็นการฟ้อนหน้าพระที่นั่ง เพื่อเป็นการรับเสด็จหลังจากนั้น ฟ้อนหางนกยูงก็ซบเซาลง และใน ปี พ.ศ. 2530 เมื่อจังหวัดนครพนมและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประกาศให้งานประเพณีไหลเรือไปเป็นงานประเพณีประจำจังหวัดนครพนม ฟ้อนหางนกยูง จึงถูกจัดอยู่ในกิจกรรมพิธีกรรมบูชาพระธาตุพนม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีไหลเรือไฟ และปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
มหาสารคาม
๒. บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
ประชาชนและชุมชนในเขต 12 อำเภอ ร่วมมือเป็นอย่างดี