ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 30' 32.067"
16.5089075
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 12' 16.9132"
100.2046981
เลขที่ : 193524
หลวงพ่อขวัญ กับมหัศจรรย์แหวนพิรอด
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 30 มีนาคม 2564
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 30 มีนาคม 2564
จังหวัด : พิจิตร
0 3077
รายละเอียด

หลวงพ่อขวัญ กับมหัศจรรย์แหวนพิรอด

ประวัติความเป็นมา

พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร) เดิมชื่อ ขวัญ หมอกมืด เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ที่บ้านไร่ หมู่ที่ ๑๒ (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ ๑๐) ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร บิดาชื่อ นายเหลือ มารดาชื่อ นางเอี้ยง มีพี่น้องร่วมสายโลหิตจำนวน ๔ คน เป็นชาย ๒ คน เป็นหญิง ๒ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๑ อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ตรงกับเดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๒๐ ปี อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบ้านนา ตำบลบ้านนา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ปัจจุบันอยู่ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร โดยมี พระครูศีลธรารักษ์ (หลวงพ่อยิ้ม) วัดท่าหลวง พระอารามหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระอาจารย์ชิต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ฟัก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาปวโร(แปลว่า ผู้ประเสริฐ) ท่านจบการศึกษาชั้นสามัญระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ สอบได้นักธรรมชั้นโทได้รับสมณศักดิ์ที่ พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอสามง่าม (กิตติมศักดิ์) และเจ้าอาวาสวัดเทพสิทธิการาม ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตรพระอนุลักษ์ ฐิตวฑฺฒโนรักษาการเจ้าอาวาสวัดเทพสิทธิการาม หรือวัดบ้านไร่ เล่าว่าพระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร)มีอุปนิสัยเรียบร้อย ไม่ค่อยพูด นิ่ง ความจำดีมาก ทำงานละเอียด รอบคอบ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ครั้งหนึ่งหลวงพ่อขวัญเล่าให้พระอนุลักษ์ ฐิตวฑฺฒโน ฟังว่า “ออกไปเลี้ยงควายกับเพื่อน ๆ ในเวลาเที่ยงวันเพื่อนๆ จะจับปู จับปลา มาทำอาหารกินกัน แต่ไม่ทำตามเหมือนเพื่อนๆ กลับไปกินอาหารกลางวันที่บ้านกับพ่อและแม่” ท่านว่าเป็นบาป แสดงถึงความเมตตา กรุณา ตั้งแต่วัยเยาว์ นอกจากนี้ หลวงพ่อขวัญยังเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องงานช่างฝีมือ โดยเฉพาะช่างปูน และช่างไม้ ท่านจะก่อสร้างเสนาสนะภายในวัดเทพสิทธิการามหรือวัดบ้านไร่ โดยเฉพาะในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้ก่อสร้างมณฑปจตุรมุข เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ท่านบรรพชน ผู้ให้กำเนิดบ้านไร่น่าสวะอุด และท่านผู้ให้กำเนิดวัดบ้านไร่เทพสิทธิวราราม เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๔๖๙ ถึงพ.ศ.๒๕๓๖ เป็นเวลาล่วงมาได้ ๖๖ ปี (ข้อความตามป้ายที่ติดหน้ามณฑป) ปัจจุบันเป็นสถานที่เก็บสรีระสังขารของพระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร)

พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร) เคยเป็นศิษย์ ของหลวงพ่อเงิน พุทธโชติพระเกจิชื่อดังระดับประเทศแห่งวัดบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร และหลวงพ่อขวัญ ยังได้รับการยอมรับจากครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ว่าเป็นพระที่มีพุทธานุภาพและอาคมแรงกล้าพระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร) พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดบ้านไร่ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ได้มรณภาพลงด้วยด้วยโรคชรา ขณะที่มีอายุ ๙๘ ปี โดยก่อนหน้านี้ หลวงพ่อขวัญได้ล้มป่วยลงด้วยโรคชราและได้เข้ารักษาตัวในห้องไอซียูของโรงพยาบาลพิจิตร ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ หลังจากที่รักษาตัวนานกว่า ๒ เดือน อาการกลับไม่ดีขึ้นและคณะแพทย์ได้ลงความเห็นว่าไม่สามารถช่วยเหลือได้ คณะกรรมการวัดและญาติโยมจึงนำตัวออกจากโรงพยาบาลพิจิตร ช่วงบ่ายของวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๘ ก่อนจะที่จะละสังขารในเวลา ๑๗.๐๐ น. วันเดียวกัน

ตำแหน่งทางสงฆ์

๑. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพสิทธิการราม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ จนถึงพ.ศ.๒๕๔๘

๒. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลสามง่าม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๔๙๔

๓. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสงฆ์อำเภอ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๔๙๖

๔. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงพ.ศ.๒๕๔๘

๕. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอสามง่าม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ - ๒๕๓๓

๖. ยกเป็นเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาคณะสงฆ์อำเภอสามง่าม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ถึงพ.ศ.๒๕๔๘

ผลงานด้านการก่อสร้าง และร่วมบริจาคเงินก่อสร้างเสนาสนะในพระพุทธศาสนา

พ.ศ.๒๕๑๘ก่อสร้างศาลาพระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ วัดปทุมรัตนาราม ตำบลบึงบัว อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร มูลค่า ๕๐๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ. ๒๕๒๕ก่อสร้างอุโบสถวัดปทุมรัตนาราม ตำบลบึงบัว อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร โดยนำพระภิกษุสามเณร และประชาชนร่วมก่อสร้าง และบริจาคเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ.๒๕๒๗ก่อสร้างอุโบสถวัดกระทิง ตำบลประชาสุขสันต์ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร โดยนำพระภิกษุสามเณร และประชาชนร่วมก่อสร้าง และบริจาคเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ. ๒๕๒๙ก่อสร้างอุโบสถวัดคงคาราม (วัดโขน) ตำบลหนองคล้า อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชรร่วมบริจาคเงินจำนวน ๑๕๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ. ๒๕๓๓- ก่อสร้างอุโบสถวัดวังตะขบ ตำบลวังโมกข์ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร บริจาคเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐.- บาท

- ก่อสร้างศาลาการเปรียญ กุฎิสงฆ์ วัดนิคม ตำบลบ้านนา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร บริจาคเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ.๒๕๓๕ร่วมก่อสร้างวัดบึงหวายพระองค์ ตำบลไทรงาม อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน ๒๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ.๒๕๓๖- ร่วมบริจาคเงินก่อสร้างอุโบสถวัดบึงบัวใน ตำบลบึงบัว อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จำนวน ๑๕,๐๐๐.- บาท

- ร่วมบริจารเงินสร้างศาลา วิหาร เมรุ วัดงิ้วสองนาง (หนองทอง) ตำบลหนองทอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน ๑,๐๘๗,๖๕๗.- บาท

- ร่วมบริจาคเงินสร้างศาลาการเปรียญวัดแม่บัว ตำบลหนองคล้า อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน ๕,๐๐๐.- บาท

- ร่วมบริจาคเงินสร้างอุโบสถวัดบ้านนา ตำบลบ้านนา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จำนวน ๑๐,๐๐๐.- บาท(ปัจจุบันอยู่อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร)

- ก่อสร้างมณฑปจตุรมุข สำหรับเก็บสรีระสังขารของหลวงพ่อขวัญ
พ.ศ. ๒๕๓๗- ร่วมบริจาคเงินก่อสร้างอุโบสถวัดวังแดง ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จำนวน ๑๓๐,๐๐๐.- บาท

- ร่วมบริจาคเงินก่อสร้างศาลาการเปรียญวัดสวนทศพลญาณ ตำบลโนนพลวง อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน ๑๐๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ. ๒๕๓๘- ร่วมบริจาคเงินก่อสร้างอุโบสถ เมรุ วัดมาบแฟบ ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จำนวน ๓๓๒,๖๐๐.- บาท

- ร่วมบริจาคเงินสร้างศาลาการเปรียญวัดรายชะโด ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จำนวน ๑๕,๓๒๕.- บาท

- ร่วมบริจาคเงินก่อสร้างศาลาการเปรียญวัดหลังถนน ตำบลบ้านนา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จำนวน ๑๑๓,๔๐๑.- บาท

ผลงานการก่อสร้าง และร่วมบริจาคเงินก่อสร้างเพื่อสาธารณประโยชน์

พ.ศ. ๒๕๓๗- ก่อสร้างประปาใช้ในวัดเทพสิทธิการาม และบริการประชาชนใกล้เคียง จำนวนเงิน ๘๐,๐๐๐.- บาท

- ก่อสร้างสะพานพิมลธรรมานุศิษฐ์ ข้ามคลองบ้านไร่ จำนวนเงิน ๖๐๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ. ๒๕๓๘ก่อสร้างอาคารปวโร ตึกอาพาธ โรงพยาบาลสามง่าม จำนวนเงิน ๕,๑๑๒,๑๓๒.-บาท

พ.ศ. ๒๕๐๕สร้างอาคารเรียน จำนวน ๑ หลังให้กับโรงเรียนวัดบ้านไร่ เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ใต้ถุนโล่ง

รางวัลที่ได้รับ

พ.ศ. ๒๕๓๙พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร)ได้รับรางวัลเสาเสมาธรรมจักรผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาการสงเคราะห์ประชาชน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) ในงานสัปดาห์ ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๓๙

พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร) เป็นที่ปรึกษาพิเศษของพระครูพินิตธรรมภาณ เจ้าคณะอำเภอสามง่าม (ในขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดวังแดง ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ปัจจุบัน พระครูพินิตธรรมภาณ มรณภาพแล้ว นอกจากนี้ หลวงพ่อขวัญยังเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นที่รู้จักของชาวพุทธทั่วประเทศพระอนุลักษ์ ฐิตวฑฺฒโนรักษาการเจ้าอาวาสวัดเทพสิทธิการาม หรือวัดบ้านไร่ เล่าว่า หลวงพ่อขวัญ สร้างวัตถุมงคล สำหรับแจกให้กับประชาชนเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่ประชาชนได้บริจาคไม้ สำหรับก่อสร้างเสนาสนะ โรงเรียน เป็นต้น วัตถุมงคลที่สร้างชื่อ คือแหวนพิรอด(หลวงพ่อขวัญจะเรียกแหวนที่ท่านทำเองว่า“แหวนพิรอด”ซึ่งลักษณะการสานเหมือนตะกร้อ ประชาชนจึงมักเรียกว่า“แหวานตะกร้อ”จนถึงปัจจุบัน) มีทั้งหมด ๓ แบบ คือ ทอง เงิน และทองแดง โดยจะนำวัตถุทั้งสามมาสานเป็นรูปตระกร้อครึ่งซีกมีพุทธานุภาพในทางเมตามหานิยมและป้องกันอสรพิษทุกอย่าง โดยเฉพาะแหวน ตระกร้อเนื้อทองเหลือง รุ่น ๙๗ เป็นแหวนที่หลวงพ่อขวัญปลุกเสกเอง นอกจากนี้ยังมีตะกรุด เหรียญ พระพงสมเด็จ พระพงนางพญา พระพงนางกวัก สติ๊กเกอร์รูปเหมือนหลวงพ่อ เป็นลักษณะวงรียันล้อมรอบ สติ๊กเกอร์ ดังกล่าวเป็นที่โจษขานกันในทางแคล้วคลาด ผู้ที่ออกรถใหม่มักจะบูชาไปติดไว้ที่รถ แต่จะเป็นที่รู้กันว่าหากออกรถมาใหม่จะต้องรอประมาณ ๓ เดือน จึงจะบูชาไปติดได้ เพราะที่ผ่านมามีผู้ที่บูชาสติ๊กเกอร์ไปติดทันทีเมื่อซื้อรถใหม่ ปรากฏว่าประสบอุบัติเหตุแทบทุกราย แต่คนขับจะไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อย ทำให้เชื่อกันว่าใครที่นำไปติดรถใหม่ทันทีจะเป็นการลองของ ขณะที่พระสมเด็จรุ่นสะพานหัก เป็นอีกหนึ่งวัตถุมงคลที่โด่งดัง

สถานที่ตั้งขององค์ความรู้: (เช่น วัด, กลุ่มอาชีพ เป็นต้น)

วัดเทพสิทธิการาม (วัดบ้านไร่) เลขที่ ๑๖๑ หมู่ที่ ๑๐ บ้านไร่ ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตรรหัสไปรษณีย์ ๖๖๑๔๐

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้

๑. คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร)เป็นพระผู้ประเสริฐโดยธรรมอย่างแท้จริง ท่านเป็นพระนักพัฒนาและพระนักก่อสร้าง ท่านให้ความช่วยเหลือสังคมโดยการบริจาคทรัพย์ในการก่อสร้างที่ศาสนสถาน สถานศึกษา โรงพยาบาล และหน่วยงานทางราชการต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นพระสังฆาธิการที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นแบบอย่างให้กับอนุชนรุ่งหลังได้เป็นอย่างดี

๒.บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

อำเภอสามง่าม ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ร่วมจัดงานประเพณี จำนวน ๒ ครั้ง ดังนี้

1.วันที่ ๑๘ กันยายน ของทุกปี งานวันคล้ายวันเกิด พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร)ช่วงแรก ๆ ที่หลวงพ่อขวัญยังมีชีวิต จะจัดพิธีทำบุญตักบาตร ต่อมาเมื่อหลวงพ่อขวัญมรณภาพ คณะกรรมการวัดเทพสิทธิการาม (วัดบ้านไร่) ร่วมใจกันจัดงานเหมือนเช่นทุกปี แต่เพิ่มกิจกรรมด้วยการเปลี่ยนจีวรให้หลวงพ่อขวัญ

๒. วันที่ ๑๙ ธันวาคม ของทุกปี จะตรงกับวันที่พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร) มรณภาพ คณะกรรมการวัดพร้อมใจกันจัดงานสมโภชหลวงพ่อขวัญ ปวโร เพื่อเป็นการนมัสการและรำลึกถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของหลวงขวัญที่มีต่อประชาชนชาวอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร

พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร)เป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดพิจิตร ทุกวันที่ ๑๘ กันยายน และวันที่ ๑๙ ธันวาคม คณะกรรมการวัดเทพสิทธิการาม จะจัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้หลวงพ่อขวัญเป็นประจำทุกปี และเป็นพระเกจิที่ชาวจังหวัดพิจิตรรู้จักเพราะท่านเป็นพระนักปฏิบัติและพระนักพัฒนา ไม่ยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นเนื้อนาบุญของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ตลอดชีวิตได้ทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองจนสิ้นอายุขัย

ข้อเสนอแนะ

ควรจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในการศึกษา เรียนรู้ บุคคลสำคัญของท้องถิ่น

วัตถุมงคล (แหวนพิรอด)

แหวนพิรอด หรือแหวนตะกร้อ พุทธคุณ นอกจากความแคล้วคลาดแล้วยังมีความเชื่อเรื่อง การกลับร้ายเป็นดีด้วยเช่นกัน ถ้าคนมีเคราะห์กรรมหรือดวงชะตาไม่ดี แหวนหลวงพ่อขวัญจะช่วยให้เคราะห์หนักกลายเป็นเบาหรือทำให้เคราะห์ร้ายกลายเป็นดี ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จแคล้วคลาดปลอดภัยคำอารธนา คาถาหัวใจยันต์ตะกร้อ บูชาแหวน ๓ จบ. " ติละปาตุลังเต มะกันติ หะเนติ อุรุปัตตานิ มะยังติภันเต"

เกร็ดความรู้เรื่องแหวนพิรอด

ตำนาน แหวนพิรอด

เครื่องรางของขลังที่คนโบราณนิยมกันว่าเป็นมงคลอีกอย่างหนึ่งก็คือ "แหวนพิรอด" ในปัจจุบันนี้ค่อนข้างหายาก และอาจารย์ที่ทำดูจะหายากตามไปด้วย นับเป็นวัฒนธรรมเครื่องรางของขลังโบราณอีกชนิดหนึ่งที่กำลังจะหายไปกับยุคโลกาภิวัฒน์ หรือยุคเทคโนโลยี ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะนำพาสังคมไทยไปในรูปแบบใดจะเป็นการสร้างชาติ หรือสิ้นชาติที่หมาย ถึงการสูญเสียวัฒนธรรมเก่าๆไปแลกกับวัฒนธรรมขยะยุคไอ.ที. (I.T.) ที่วัยรุ่นปัจจุบันมักมีพฤติกรรมแปลกให้เห็นอยู่เสมอๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ ฝากข้อคิดไว้นิดว่าชาติจะมีความหมายอะไร ถ้าหากเราไม่สามารถรักษาเอกลักษณ์คือวัฒนธรรมเอาไว้ได้

แหวนพิรอดว่ามีสองชนิด
ตามตำราไสยศาสตร์นั้นบอกเล่าเรื่องราวของ แหวนพิรอดว่ามีสองชนิด คือชนิดเล็กใช้สวมนิ้ว ชนิดใหญ่ใช้สวมแขน ซึ่งมักเรียกว่า “สนับแขนพิรอด” (ชนิดนี้บางทีทำด้วยโลหะผสมก็มี ตรงหัวทำเป็นเหมือนหัวแหวนพิรอด) ซึ่งสนับแขนนี้เดิมยังใช้เป็นอาวุธของนักมวยในการกอดปล้ำที่เข้าวงใน เพราะแหวนแขนที่ทำจากด้ายดิบหากลงรักจะแข็งและคม ซึ่งใช้ถูกับผิวหนังนักมวยฝ่ายตรงข้ามทำให้เจ็บและไม่อยากเข้าต่อสู้ด้วยการกอดปล้ำ เป็นการจำกัดรูปมวยฝ่ายตรงข้ามเรียกว่าพาให้เขาเข้าทางมวยฝ่ายเรา ซึ่งทำให้ได้เปรียบในเชิงการต่อสู้ ในปัจจุบันจะพบเห็นในการแข่งขันชกมวยไทย แต่ปัจจุบันคงเป็นแค่เครื่องรางอย่างหนึ่งเท่านั้น

วัสดุที่ใช้ทำแหวนพิรอด

วัสดุที่ใช้ทำแหวนพิรอดโดยมากทำด้วยกระดาษว่าวกับถักด้วยเชือก ตำนานแหวนพิรอดเมื่อย้อนยุคไปเมื่อสักเกือบศตวรรษนั้น แหวนพิรอดของหลวงพ่อม่วง วัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีชื่อมากขนาด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่๕) ได้ทรงกล่าวถึงอาจารย์ที่สร้างแหวนพิรอดที่ขึ้นชื่อลือชาในสมัยที่พระองค์ประสบพบเห็น โดยทรงพระราชนิพนธ์บันทึกไว้นี้สองท่านคือ รูปหนึ่งคือ เจ้าอธิการเฮง วัดเขาดิน เป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ได้นำแหวนพิรอดมาถวายพระเจ้าลูกเธอที่ตามเสด็จ ได้ทรงวิจารณ์ไว้ว่า "เอาแหวนถักพิรอดมาแจกแหวนนั้นทำนองเดียวกับขรัวม่วงวัดประดู่ แต่ขรัวม่วงถักด้วยกระดาษลงรักนี่ถักด้วยด้ายทำเรียบร้อยดี" ซึ่งพอจะคะเนได้ว่าพระเถระทั้งสองรูปน่าจะเป็นเกจิอาจารย์ของเมืองกรุงเก่า(อยุธยา) แหวนพิรอดเดิมทีนั้นใช้วัสดุที่หาได้จากใกล้ๆตัวตามวิถีชีวิตคนในสมัยนั้นคือมักทำด้วย กระดาษว่าว ก็เพราะเป็นกระดาษที่เหนียวแน่นดีกว่ากระดาษชนิดอื่น


ลงยันต์แหวนพิรอด
เมื่อจะต้องทำลงยันต์แหวนพิรอดในกระดาษยันต์นี้ประกอบด้วยรูปพระภควัม หรือเลขยันต์ตามแต่พระเกจิอาจารย์แต่ละสายจะกำหนดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นว่าเป็นกลเม็ดเด็ดพรายตามแต่สำนักใดจะสร้างขึ้น โดยมีความเชื่อกันอยู่อย่างหนึ่งถึงวิธีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องรางแหวนพิรอด ที่สร้างขึ้นว่ามีอิทธิคุณถึงขั้นหรือยังคือเมื่อทำแล้วให้ทดลองเอาไฟเผาดู ถ้าไม่ไหม้ก็ใช้ได้ พระอาจารย์ผู้สร้างจึงจะนำมาตกแต่งเพื่อความมั่นคงทนทานและสวยงาม อันแหวนพิรอดนั้น โดยมากมักจะลงรักเพื่อป้องกันความชื้นซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แหวนผุง่ายไม่คงทน

ลอร์ดออฟเดอะริงค์ อย่างไทยๆ เรา

ในตำราไสยศาสตร์นั้นยังระบุอธิบายวิธีใช้ไว้ว่า ถ้าจะเข้าสู้รบทำสงคราม ให้ถือแหวนกระดาษนี้แล้วบริกรรมด้วย "มะอะอุฯ" และถ้าจะให้เป็นตบะเดชะในสงคราม ทำให้ข้าศึกครั่นคร้าม ให้บริกรรมด้วยคาถา "โอม ยาวะ พะกาสะตรีนิสิเหฯ" ว่ากันว่าไม่แต่เพียงศึกมนุษย์ถึงศึกเทวดามาก็ไม่ต้องกลัว ซึ่งคงเป็นแบบเรื่องราวของ “ลอร์ดออฟเดอะริงค์”อย่างไทยๆ เรา

ความเป็นมาของเงื่อน
เคยได้ยินคนรุ่นเก่าเล่ากันว่า แหวนหลวงพิรอด เรื่องนี้เห็นจะเป็นเพราะลากเข้าความกันมากกว่า เท่าที่อ่านพบจากการสันนิษฐานของนักปราชญ์ชาวตะวันตก(อิตาลี)ที่เข้ามารับราชการ จนเป็นถึงเจ้ากรมยุทธศึกษาของกองทัพบกไทยคนแรกในการทหารยุคใหม่คือ ยี. อี.เยรินี (พันเอกพระสารสารขันธ์)กล่าวว่า “ชื่อ พิรอด มาจากภาษาสันสกฤตว่า วิรุทธ หรือ พิรุทธ แปลว่า อันขัดกันอยู่ อันได้รับการต่อต้านหรือขัดขวาง อันตรงกันข้ามเมื่อพิจารณาจากลายที่ถัก ก็ใช้ขัดกันแบบเงื่อนลูกเสือที่เรียกกันว่า เงื่อนพิรอด ก็ดูจะสมกับชื่อในภาษาสันสกฤตอยู่มาก เงื่อนพิรอดนั้นเป็นเงื่อนที่ใช้กันมาแต่โบราณนานมาก หลักฐานที่พอจะชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ก็คือรูปสลักหินโบราณของพวกขอม จะเห็นว่าผ้าคาดเอวตรงด้านหน้าทำเป็นเชือกผูกเป็นเงื่อนพิรอดอย่างนี้เหมือนกัน เงื่อนชนิดนี้ยิ่งดึงยิ่งแน่น”

คาถาอาคม ที่ใช้กับเงื่อน ขอเกจิอาจารย์ ต่างๆ
เงื่อนพิรอดนั้นจัดเป็นเงื่อนสำคัญที่ใช้ในการต่อเชือกหรือการผูกโยงเพื่อความมั่นคง แน่นหนาอย่างวิชาเชือกคาดสายหลวงปู่ขัน วัดนกกระจาบ ที่ต่อยุคมายังหลวงปู่ธูปวัดแค นางเลิ้ง กทม. ซึ่งพระเกจิอาจารย์ท่านนี้เป็นผู้ทรงคุณวิทยาสูงส่งเฉพาะด้านมหานิยมก็เข้มขลังขนาดอมตะ ดาราอย่าง คุณ มิตร ชัยบัญชายังนับถือเป็นลูกศิษย์ซึ่งวงการผู้นิยมเครื่องรางก็ทราบกันดี โดยเชือกคาดสายหลวงปู่ขันนั้นเวลาคาดต้องขัดเป็นเงื่อนพิรอด มีคาถากำกับว่า “พระพิรอดขอดพระพินัย” และเวลาแก้เชือกก็มี คาถาว่า “พระพินัยคลายพระพิรอด” อันจะเห็นได้ว่าศาสตร์การใช้เงื่อนพิรอดนั้นยังสืบมาถึงเครื่องคาดอย่างเชือกหรือการ ผูกตะกรุด พิสมรซึ่งต้องรวมถึงเครื่องรางโบราณอีกชนิดที่ปัจจุบันไม่ค่อยมีเกจิอาจารย์สร้างก็คือ “ผ้าขอด” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องพิรอดด้วยโดยผ้าขอดนั้นจะเป็นการขัด “พิรอดเดี่ยว” เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเรื่องผ้าขอดในยุคเก่าๆเช่นหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จังหวัดอยุธยา หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ จ.อยุธยา หลวงพ่อกวย ชุตินธโร จ.ชัยนาท เป็นต้น ในส่วนเครื่องรางผ้าขอดสายวัดสะแก จ.อยุธยา ก็มีชื่อเช่นกันแต่เป็นฆารวาส ที่ชื่อว่า เฮง ไพรวัลย์ ลอยเรืออยู่ท่าน้ำวัดสะแกบางคนเรียก ว่า อาจารย์เฮงเรือลอยก็มี (ความรู้เพิ่มเติมเรื่องเงื่อนศักดิ์สิทธิ์นี้อ่านที่คอลัมมายิกไท-เทศ;อุณมิลิต เล่มที่ ๑๐ - ๑๑)...

สถานที่ตั้ง
วัดเทพสิทธิการาม (วัดบ้านไร่)
เลขที่ 161 หมู่ที่/หมู่บ้าน 10
ตำบล สามง่าม อำเภอ สามง่าม จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
วัดเทพสิทธิการาม (วัดบ้านไร่)
บุคคลอ้างอิง พระอนุลักษ์ ฐิตวฑฺฒโน
ชื่อที่ทำงาน วัดเทพสิทธิการาม (วัดบ้านไร่)
เลขที่ 161 หมู่ที่/หมู่บ้าน 10
ตำบล สามง่าม อำเภอ สามง่าม จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66140
โทรศัพท์ 084-1815540
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/phichit
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่