พินิจลายเส้นหนึ่งร้อยปี
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวของพุทธประวัติ, ทศชาติชาดกและวิถีชีวิตของคนในสมัยโบราณ โดยช่างพื้นถิ่นบนผนังโบสถ์หลังเก่าอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี สะท้อนวิถีจันทบูรฉายเป็นภาพชัดผ่านลวดลายเส้นจากปลายภู่กันของ 'ขุนกันทะราหะริรัฐ' ผู้รับจ้าง
ขุนกันทะราหะริรัฐเริ่มลงมือวาดเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ [ตรงกับวันจันทร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๔] แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ [ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๖]
รวมใช้เวลาวาดทั้งสิ้น ๒ ปี ๑๔ วัน จึงแล้วเสร็จ [อ้างอิง วัน เวลาไทย จาก มายโหรา.คอม] เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ [เสด็จขึ้นเสวยราชย์ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ – ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘]
ลวดลายภาพเขียนของขุนกันทะราหะริรัฐ ที่ฝาผนังโบสถ์หลังเก่าวัดเนินสูง จึงมีอายุครบ ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ รัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐
• ศึกษาภาพสีบนฝาผนังวัดเนินสูง
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถหลังเก่าเขียนเป็นเรื่องราวพุทธประวัติและทศชาติชาดก ผู้วาดซึ่งเป็นช่างพื้นถิ่นได้แทรกวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นไว้ด้วย โดยวาดเป็นภาพต่อเนื่อง คั่นด้วยลวดลายใบไม้ ดอกไม้ เขียนอธิบายด้วยภาษาในขณะนั้น
ศาสตราจารย์สุชาติ เถาทอง เขียนอธิบายจิตรกรรมฝาผนังแบบพื้นถิ่น ไว้ใน 'ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นถิ่นภาคตะวันออก' [โอเดียนสโตร์ : กรุงเทพฯ, ๒๕๔๔] ความว่า
"จิตรกรรมฝาผนังแบบพื้นถิ่นมีรูปแบบและลักษณะกลวิธีการแสดงออกเป็นแบบอย่างพื้นถิ่น คือเป็นฝีมือของช่างพื้นถิ่น ที่มีกลวิธีและรูปแบบการเขียนภาพแบบเรียบง่าย เขียนภาพขึ้นจากความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนาเป็นหลักสำคัญ เช่น จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเนินสูง, วัดเขาน้อย, วัดคลองน้ำเค็ม, วัดตะปอนน้อย จังหวัดจันทบุรี, วัดบ้างเป้ง, วัดใต้ต้นลาน จังหวัดชลบุรี, วัดโยธานิมิต จังหวัดตราด, วัดโขดทิมทาราม จังหวัดระยอง และวัดเมืองกาย จังหวัดฉะเชิงเทรา"
"จิตรกรรมฝาผนัง 'รูปแบบพื้นถิ่น' ปรากฏหลักฐานแพร่หลายทั่วไปในภาคตะวันออก เกิดขึ้นจากคตินิยมและความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ รูปแบบและกลวิธีการแสดงออกของภาพเขียนอาจจะดูอ่อนด้อยทางทักษะและฝีมือ เนื่องจากว่าช่างเขียนไม่ได้รับการศึกษาและเรียนรู้กระบวนการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามเกณฑ์และแบบอย่างจากช่างหลวงในกรุงเทพฯ แต่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ และการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนมาก และความไม่รู้ในกลวิธี และกระบวนการเชิงช่างของช่างพื้นถิ่นและพื้นบ้าน ผสมผสานกับความจริงใจและความศรัทธาต่อพุทธศาสนา ส่งผลให้การสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังในภาคตะวันออกกลุ่มนี้มีรูปแบบและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง"
และบรรยายรูปแบบและเอกลักษณ์จิตรกรรมฝาผนังวัดเนินสูง ไว้ดังนี้
"จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเนินสูงมีองค์ประกอบของภาพจิตรกรรมฯ โดยเฉพาะภาพสถาปัตยกรรมที่ปรากฏจะมีทั้งเรือนพักอาศัยที่เป็นแบบเรือนไม้ใต้ถุนสูง ศาลาโถงแบบตึกชั้นเดียวและสองชั้น ประตูเป็นซุ้มโค้งเช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ศาลาบางกลุ่มในภาพเขียนทำเป็นหลังคามุงด้วยกระเบื้องแบบจีน นอกจากนี้ส่วนที่แสดงถึงภูมิประเทศในภาพจิตรกรรมฝาผนังจะเขียนเป็นภาพทิวทัศน์ริมทะเล เขียนเป็นรูปภูเขา หรือโขดหินที่สูงขึ้นไป บนยอดเขามีศาลาส่งสัญญาณประกอบเสาธงสูง ทำนองด่านที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาพื้นที่บริเวณปากน้ำ
ภาพบุคคลที่ปรากฏภายในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเนินสูง มีลักษณะการแต่งกายที่แตกต่างกันโดยเฉพาะภาพเขียนรูปทหารมีการแต่งกายแบบฝรั่ง เช่น ถือปืนยาว นุ่งกางเกง สวมหมวกออกแบบทรงสูง [เป็นเครื่องแบบเต็มยศของทหารในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีการฝึกหัดทหารแบบฝรั่ง] บ้างก็สวมหมวกปีกกว้างแบบทหารฝรั่ง จากองค์ประกอบต่างๆ ที่ปรากฏเป็นหลักฐานภายในภาพจิตรกรรมฝาผนัง กับที่ปรากฏหลักฐานทางสถาปัตยกรรมตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี เช่น ตึกแดง อำเภอแหลมสิงห์ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส เมื่อคราวยึดครองจันทบุรีครั้งเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒"
ท้ายสุดศาสตราจารย์สุชาติ เถาทอง วิเคราะห์ในเชิงความเป็นพื้นบ้านของจิตรกรรมฝาผนังวัดเนินสูงไว้ว่า
"จิตรกรรมฝาผนังวัดเนินสูงพบว่า การใช้สีและเส้นมีลักษณะเฉพาะของพื้นถิ่นในภาคตะวันออก เช่น การใช้สีครม [สีน้ำเงินมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Ultramarine blue] การตัดเส้นมีลักษณะที่ค่อนข้างหยาบ และตัดเส้นเพื่อเน้นเฉพาะส่วนของรูปทรงภายนอก และรายละเอียดภายในเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ผู้สนใจต้องการชมหรือศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถหลังเก่า วัดเนินสูง สามารถไปชมได้ที่
วัดเนินสูง เลขที่ ๖๗ หมู่ที่ ๑๒ บ้านคลองนารายณ์ ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี