ด้วยชุมชนบ้านมอญ ในหมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีชาวมอญ อพยพมาจากเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้มาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คน ซึ่งบรรพบุรุษของพวกเขาอพยพโดยใช้เรือเป็นพาหนะ เพื่อเดินทางขึ้นเหนือไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงเมืองปากน้ำโพ เพื่อค้าขายเครื่องปั้นดินเผา ได้ขึ้นจากเรือเพื่อหาผักหาปลาทำกับข้าว ในบึงเขาดิน ตำบลบ้านแก่ง ได้พบดินที่บึงแห่งนี้มีคุณภาพดี สามารถทำเครื่องปั้นดินเผาได้และพากันต้องถิ่นฐานอาศัยอยู่ประจำที่นี่จนถึงปัจจุบัน
เมื่อมีการอพยพย้ายถิ่นฐาน ก็ย่อมเกิดการเคลื่อนย้ายวัฒนธรรมติดตัวไปด้วย ซึ่ง กลุ่มชาติพันธุ์มอญ ชุมชนบ้านมอญ ตำบลบ้านแก่ง ก็มีวัฒนธรรมที่ติดตัวมาด้วยคือ วิถีชีวิตวัฒนธรรมด้านภาษาพูด ด้านอาหารการกิน ด้านการแต่งกาย และการสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งมีอัตลักษณ์ ที่โดดเด่นมาก ในการนี้จะนำเสนอด้านวัฒนธรรมการทำมาหากิน และชูเรื่องมรดกภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผา บ้านมอญ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
การปั้นใช้วิธีการแบบดั้งเดิม เรียกว่าการนั่ว
กว่าจะมาเป็นเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ
สมัยบรรพชนได้ใช้แรงงานคน ควาย มีเกวียนเป็นพาหนะบรรทุกดินจากบึงเขาดินเข้ามาในหมู่บ้าน ใช้ควายย่ำให้ดินละเอียดลง ก่อนจะนำไปใช้ในการปั้นทำเครื่องปั้นดินเผา
การทำเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิม
วัสดุที่ใช้ : ๑. ดิน ๒. ทราย ๓. น้ำ ๔. ฟืนทำเชื้อเพลิง
ขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิม
๑. เริ่มขุดดินมาหมักไว้ในน้ำ ๓ คืน เพื่อให้ดินอ่อนนุ่ม
๒. นำดินมาผสมทรายโม่ให้เข้ากัน แล้วจัดเตรียมไว้เป็นท่อนกลมๆ (สมัยโบราณใช้ควายย่ำแทนการโม่ดิน)
๓. นำดินที่โม่แล้วมาขึ้นรูปทำเครื่องปั้นดินเผารูปทรงตามต้องการ เช่น โอ่ง อ่าง กระถาง ไห หม้อดิน คนโท ฯลฯ
ในการนี้ขอนำเสนอการทำคนโทแบบดั้งเดิม จากแรงบันดานใจที่จะนำเสนอชิ้นงานเครื่องปั้นดินเผาได้ทั้งแบบโบราณและแบบร่วมสมัย เพื่ออนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสู่อนุชนและสาธารณชน ดังตัวอย่างชิ้นงานการปั้นแบบดั้งเดิมหรือแบบโบราณ คือ
คนโทลายโบราณ(จิ้มดอก)มีลักษณะรูปทรงแบบสวยงามแบบดั้งเดิม โดดเด่น ใช้วิธีการหรือกระบวนการทำแบบโบราณทั้งสิ้น ตามขั้นตอนดังนี้
๑. การขุดดินก่อนขุดดินมาใช้ในงานปั้น ข้าพเจ้าได้ทำพิธีตามธรรมเนียมโบราณ คือการขอขมาพระแม่ธรณี ณ บริเวณบึงเขาดิน เพื่อให้พระแม่ธรณีอนุญาต ให้ท่านปกปักรักษา ทำการงานบรรลุไม่มีอุปสรรคใด ๆ โดยมีพิธีการดังนี้ ผู้ขอขมานำธูป ๓ ดอก ดอกไม้ ๓ สี และหมาก ๑ คำ ไปที่แหล่งดินคือบึงเขาดิน ใช้เสียมขุดดินขึ้นมาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ยาว ๑๐ ซ.ม. ลึก ๘ ซ.ม. วางดอกไม้ หมากไว้บนก้อนดินที่ทำพิธี จุดธูปถือพร้อมพนมมือบอกกล่าวขอขมาพระแม่ธรณี และกล่าวคำว่าพระแม่ธรณี พระภูมิเจ้าที่ ลูกขออนุญาตนำดินแห่งนี้ไปใช้ในงานปั้น เพื่อประกอบสัมมาหาเลี้ยงชีพ ขอให้ข้าพเจ้าดำเนินการด้วยความเจริญ รุ่งเรือง ปราศจากปัญหาและอุปสรรค์ทั้งปวงเทอญ แล้วปักธูปทั้ง ๓ ดอกไว้ที่ก้อนดินนั้น จึงจะสามารถขุดดินไปใช้ในงานปั้นได้
๒. การหมักดินเมื่อได้ดินมาแล้วนำไปผสมน้ำ หมักไว้เป็นเวลา ๓ คืน
๓. การนวดดิน(ในอดีตใช้ควายย่ำดิน) หลังจากหมักดินไว้ครบ ๓ คือแล้ว ก็ขุดดินส่วนที่จะใช้มาย่ำด้วยเท้าจนดินผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน มีความนุ่ม ละเอียดได้ที่แล้วจะคลึงเป็นท่อนขนาดใหญ่ ยาว ตามความต้องการในงานปั้นนั้นๆ แล้วใช้ใบตองแห้งห่อไว้ มิให้ถูกลมเพราะจะแห้งแข็งนำมาใช้ปั้นไม่ได้
๔. การขึ้นรูปนำดินที่ห่อไว้มานวดด้วยมือจนนิ่ม ทำเป็นขดๆ เตรียมไว้นั่ว ใช้ วิธีการปั้นแบบโบราณ คือการนั่วดิน(ต่อขดดิน)ให้เป็นรูปทรงคนโท นำผึ่งลมไว้ ๑ คืน
๖. การต่อคอคนโทเมื่อได้คนโทที่หมาด ก็ทำการต่อคอ ทำปาก พร้อมตกแต่งรูปลักษณ์คนโทให้สวยงาม นำผึ่งลมไว้ ๑ คืน
๗. การเขียนลวดลายเมื่อครบ ๑ คืน ก็ได้คนโทที่หมาด ก็สามารถเขียนลวดลายลงบนคนโทโดยใช้วิธีการจิ้มลายและกดลายแบบโบราณ ซึ่งสามารถทำได้โดยวิธีการนำเศษกิ่งไม้สักชิ้นเล็กๆ มาแกะสลักเป็นลวดลาย หรือดอกที่ต้องการ เพื่อใช้เป็นแม่พิมพ์ นำแม่พิมพ์ไปจิ้มบนภาชนะเครื่องปั้นทีละดอกจนครบตามต้องการจะเกิดลวดลายหรือดอกที่สวยงาม (ใช้วัสดุท้องถิ่น) งานออกมาจึงมีความประณีต สวยงามมาก เป็นเสน่ห์ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญแบบโบราณ ปัจจุบันมีผู้ทำการอนุรักษ์เหลือน้อยคน เพราะปู่ ย่า ตา ยาย ท่านอายุมากและล้มตายจากไปเกือบหมดคนรุ่นอนุรักษ์ในท้องถิ่น
๘. การผึ่งลมเมื่อทำตามวิธีการในข้อ ๗ เสร็จแล้ว จะนำไปผึ่งลมในที่ร่มโดยใช้เวลา ๑๕ วัน
๙. การเผาเมื่อผึ่งลมจนได้ที่เป็นเวลาครบกำหนด ๑๕ วันแล้ว ก็นำเข้าเตาเผาเพื่อเผาให้แกร่ง การเผาใช้ไม้ไผ่แห้ง หรือไม้ยูคาลิฟตัสแห้งทำฟืน ใช้เวลาสุมไฟนาน ๓ วัน ๒ คืน ค่อย ๆ เร่งไฟให้แรงถึง ๘๐๐ องศาขึ้นไป จึงจะได้เครื่องปั้นที่แกร่ง สีสวย เคาะดังกังวาน มีความแข็งแรง คงทนในการใช้งาน
๑๐. การใช้งานมีประโยชน์สำหรับใส่น้ำดื่มประจำบ้าน หรืองานประดับ ตกแต่ง นับเป็นศิลปหัตถกรรมไทยที่ล้ำค่า สมควรแก่การอนุรักษ์ เผยแพร่ ให้เป็นที่ประจักษ์สืบไป