นายวินัย อยู่ยั่งยืน หัวหน้าวงปี่พาทย์คณะวินัย อยู่ยั่งยืน เป็นคนจังหวัดเพชรบุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2494 เกิดที่บ้านนาแค บ้านเลขที่ 36 หมู่ที่ 2 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรของนายมี นางหนอม อยู่ยั่งยืน มีพี่น้อง 5 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 3 คน ได้แก่ 1.. นางมัณฑนา อยู่ยั่งยืน 2. นายวินัย อยู่ยั่งยืน 3. นางทวี เกตุแก้ว (เสียชีวิต) 4. นายเสนาะ อยู่ยั่งยืน และ 5. นางนันทิณี ปานาราถ นายวินัย จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านเหมืองกลาง ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และระดับมัธยมศึกษาจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเพชรบุรี และสมรสกับ นางสงอม อยู่ยั่งยืน มีบุตร 1 คน เป็นชาย คือ พ.อ.ต.วุฒิชัย อยู่ยั่งยืน
ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 2 ตำบลบางจาน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรีโทรศัพท์บ้าน 032-700226 มือถือ 081-7005727
นอกจากมีคณะปี่พาทย์เป็นของตนเอง ก็ยังเป็นครูสอนดนตรีอยู่ที่โรงเรียนสุวรรณรังสฤษฎิ์วิทยาลัย และดำรงตำแหน่งประธานชมรมดนตรีไทย ที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิพระเทพสุวรรณมุนี วัดมหาธาตุวรวิหาร
ประวัติการเรียนรู้ด้านดนตรี
นายวินัย อยู่ยั่งยืน เกิดในครอบครัวที่คลุกคลีกับกิจการทางดนตรีไทย นับตั้งแต่ปู่ คือ ปู่มาก อยู่ยั่งยืน มีคณะปี่พาทย์ไทย และบิดา คือ นายมี อยู่ยั่งยืน ต่อมาได้รับช่วงเป็นหัวหน้าคณะ นายวินัย อยู่ยั่งยืน เริ่มฝึกหัดเล่นดนตรีไทยประมาณปี พ.ศ. 2504 ขณะนั้นอายุ 10 ปี โดยเริ่มจากการหัดเครื่องดนตรีไทยก่อน สิ่งที่กระตุ้นให้รักในดนตรีไทย คือ บิดาซึ่งมีชื่อเสียงด้านการบรรเลงและขับร้องเพลงไทย ซึ่งถือว่าเป็นครูคนแรก จากความใกล้ชิด ได้ยิน และได้ฟังการบรรเลงดนตรีของบิดา ทำให้นายวินัยซึมซับเอาดนตรีไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตโดยไม่รู้ตัว เกิดความรักในดนตรีไทย หรือที่เรียกว่า สืบทอดมาโดยสายเลือด จนปัจจุบันเป็น นักดนตรีปี่พาทย์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี
หลังจากที่ นายวินัย อยู่ยั่งยืน จบชั้นป.4 ไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากแม่เกรงว่าถ้าไปเรียนแล้วจะเสียคน จึงให้ออกมาทำงานอยู่กับบ้าน เมื่อคณะปี่พาทย์ของพ่อไปแสดงที่ไหนก็จะไปด้วยแรกๆ ก็เล่นเครื่องประกอบจังหวะต่าง ๆ ที่เล่นเพราะไม่มีเงินใช้ พอเล่นดนตรีก็ได้เงินใช้เรื่อยมา ครั้งละ 2 บาท ตอนนั้นหัดเล่นดนตรีบ้างแต่ไม่จริงจังนัก พอดีมีลุงซึ่งเป็นญาติกับพ่อ ชื่อ นายเสย เพิ่มสิน ได้พ้นโทษออกมา ลุงมีความสามารถในทางดนตรีไทยและสากล จึงสอนเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ สอนตัวโน้ต และการขับร้องให้ เป็นการเริ่มฝึกเล่นดนตรีอย่างจริงจัง พ่อเกรงว่าจะไม่มีหลักการเล่นดนตรีที่ถูกต้อง จึงพาไปฝากเรียนดนตรีกับครูรวม พรหมบุรี ที่จังหวัดราชบุรี ประมาณปี พ.ศ. 2512 อายุ 17-18 ปี ครูรวมเป็นทั้งครูระนาดและเป็นพ่อบุญธรรม ครูรวมเป็นศิลปินที่มีความถนัดด้านการบรรเลงระนาด (จากวังบางคอแหลม) ขณะที่อยู่กับครูรวมเป็นการเริ่มเรียนเครื่องดนตรี ปี่พาทย์มอญอย่างจริงจัง เมื่อฝึกฝนจนสามารถออกงานได้ และได้ร่วมแสดงอยู่ในคณะของครูรวม ได้ค่าแสดงครั้งละ 10 บาท
ปี พ.ศ. 2513 ได้มีโอกาสไปบรรเลงประชันวงในนามวงรวมศิษย์บรรเลง ณ โรงละครแห่งชาติ และประชันกับคณะไพฑูรย์ จากจังหวัดอยุธยา นายวินัย อยู่ยั่งยืนได้แสดงฝีมือการเดี่ยวฆ้อง ซึ่งในครั้งนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเสด็จทอดพระเนตรด้วย จากการประชันครั้งนั้นเป็นต้นมา ชื่อของนายวินัย อยู่ยั่งยืน ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักดนตรีด้วยกัน
จากนั้นได้เรียนดนตรีเพิ่มเติม กับ ครูบุญยงค์ และครูบุญยัง เกตุคง โดยเรียนหน้าพาทย์ สำหรับครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นครูเพลงพิธีชั้นสูงที่มีความเชี่ยวชาญและความถนัดด้านนาฏดุริยางค์ และเครื่องดนตรีทุกชนิด จนได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่งนายวินัยนับถือเสมือนญาติคนหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2522 อายุประมาณ 26 ปี ได้หัดเรียนปี่กับ จ่าสุวิทย์ แก้วกมล ซึ่งรับราชการทหารเรือ เนื่องจากในคณะของพ่อไม่มีคนปี่และหายาก จึงทำให้เป็นเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งที่เรียน
นายวินัย เล่าว่าเวลาที่ไปแสดงถ้าขาดคนเล่นเครื่องดนตรีชนิดใดก็มักจะได้เล่นแทน และก็สามารถเล่นได้ แต่จะเรียกว่าชำนาญและเก่งเหมือนกับคนที่เล่นได้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ความชำนาญในเครื่องดนตรี จากมากไปหาน้อย มีดังนี้ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ปี่
การไหว้ครูเพลง นายวินัยเมื่อเรียนกับครูรวม ที่จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2511 ได้เข้าพิธีไหว้ครู ครอบครู ส่วนการจับมือเรียนเพลงพิธีชั้นสูงเริ่มเรียนกับครูบุญยงค์ และครูบุญยัง เกตุคง เมื่อตอนอายุ 21 ปี จากนั้นเมื่อ พ.ศ. 2529 ได้รับมอบจากครูบุญยงค์ให้เป็นครูดนตรีสอนเด็กได้ และเมื่อ พ.ศ.2546 ได้รับมอบให้เป็นผู้ทำพิธีกรได้จาก ครูพินิจ ฉายสุวรรณ์
ประวัติความเป็นมาของการตั้งคณะ
ศิลปินและกลิ่นไอทางศิลปะการแสดงอบอวลชีวิตของนายวินัยมาตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้ซึมซับและเกิดความรักในเสียงดนตรีไทยมาตั้งแต่จำความได้ จากประสบการณ์ในการแสดงดนตรีและการเป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนบางแก้ว โรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย และโรงเรียนสุวรรณรังสฤษฏิ์วิทยาลัย ทำให้นายวินัย อยู่ยั่งยืน มีความชำนาญในเครื่องดนตรีและการขับร้องเพิ่มมากขึ้น และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักดนตรีไทยในจังหวัดเพชรบุรี ประกอบกับนายวินัยมีเครื่องดนตรี ปี่พาทย์ไทยของบิดาที่เป็นมรดกจากปู่ และประมาณปี พ.ศ. 2524 นายศรีนคร เฉียงอุทิศ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทได้ชวนและสนับสนุนให้สร้างเครื่องปี่พาทย์มอญ และตั้งคณะปี่พาทย์เป็นของตนเอง โดยการพาไปสั่งทำเครื่องดนตรีที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เมื่อได้เครื่องในปี พ.ศ. 2525 จึงได้ตั้งคณะปี่พาทย์ขึ้น พร้อมทั้งให้หลวงพ่อเชียร วัดราษฎร์ศรัทธา ท่านบอกให้ตั้งชื่อคณะว่า “คณะอยู่ยั่งยืน” โดยการใช้นามสกุลมาตั้งเป็นชื่อคณะ แต่เนื่องจากมีลูกพี่ลูกน้องที่อยู่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ใช้เป็นชื่อคณะเหมือนกัน จึงเพิ่มชื่อตนเองเข้าไปเป็นเป็น คณะวินัย อยู่ยั่งยืน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ผลงาน/เกียรติคุณ/รางวัล
พ.ศ.2543 รวมโน๊ตเพลงไทยไว้ให้ชมรมดนตรีไทย จำนวน 116 เพลง
พ.ศ.2544 จัดทำแบบฝึกหัดขิม จำนวน 51 เพลง
พ.ศ.2544 จัดทำบทร้องเพลงไทย จำนวน 45 เพลง
พ.ศ.2545 ได้เผยแพร่การแสดงดนตรีไทย ณ ประเทศเชคโกและเยอรมัน
พ.ศ.2546 โน๊ตเพลงไทยไว้ที่ชมรมดนตรีไทย จำนวน 94 เพลง