คำว่า “สะระไนย” มีที่มาจาก “สุระหนี่”ภาษาชวา หมายถึงเครื่องดนตรีประเภทปี่สรไน หรือ ปี่ไฉนของ
อินโดนีเชีย ซึ่งภาษามอญโบราณเรียกแผลงจาก “สุระหนี่”มาเป็น”สะระไนย”(สะระไนย)โดยปรากฏหลักฐานเก่าสุดด้านลายลักษณ์ ในศิลาจารึก อักษรไทยล้านนาที่วัดพระยืน(หลัก ลพ.๓๘)อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จารึกเมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๓ มีข้อความเกี่ยวเนื่องกับตอนที่พระญากือนา หรือพระญาธรรมิกราชาแห่งเชียงใหม่ ด้เตรียมการต้อนรับขบวนเสด็จของพระมหาสุมนเถระจากสุโขทัยสู่เมืองลำพูนด้วยการประโคมเครื่องดนตรีนานาชนิด ว่า
“ท่านพญาธรรมิกราชบริพารด้วยฝูงราชโยธามหาพลลูกเจ้าลูกขุนมนตรีทั้งหลาย ย้ายกันให้ถือกระทงข้าวตอกดอกไม้ ไต้เทียน ตีพาทย์ดังพิณ ฆ้อง กลอง ปี่สะระไน พิสเนญชัย ทะ-เทียดกาเหล แตรสังข์มาน กังสะดานมะระทง
ดงเดือด เสียงเลิศเสียงก้อง อีกทั้งคนร้องโห่อื้อดาสะท้านทั่วทั้งนครหริภุญไชย
ด้วยรูปทรงของ “ปี่สะระไน”ที่เป็นแท่งยาวทรงสูงสง่านี้เอง ต่อมาจึงได้ถูกช่างพื้นบ้านชาวล้านนานำไปใช้เรียกองค์ประกอบสถาปัตยกรรมในส่วน “ปั้นลม”(ป้านลม)หรือ “ช่อฟ้า”ที่ใช้ประดับบริเวณหน้าจั่วหลังคาบ้านชนิดหนึ่ง ว่า “สะระไนย” เช่นกัน เนื่องจากปั้นลมดังกล่าวมีความสูงราว ๑ ฟุตเศษใกล้เคียงกับความยาวของปี่ไฉน ทั้งยังเป็นรูปแท่งไม้กลมกลึงฉลุลายคล้ายเสาสูงส่วนปลายยอดจำหลักเป็นเม็ดน้ำค้างคล้ายปากปี่ นอกจากนี้ยังตกแต่งปีกด้านข้างทั้งสองของปั้นลมด้วยลวดลายพรรณพฤกษาหรือลายกนกคล้ายปีกนกทรงสามเหลี่ยม หลังคาบ้านที่ประดับด้วย “สะระไน” มักสร้างเป็นหลังคาทรงจั่วแบบมนิลา ๒ จั่ว (คือเปิดเฉพาะด้านหน้าและด้านหลัง)ในขณะเดียวกัน “สะระไนย”ยังใช้ประดับบ้านที่สร้างด้วยหลังคาปั้นหยาแบบปิดหมดทั้งสี่ด้านอีกด้วย
บ้านโบราณของชาวลื้อชาวยองในอดีตราว ๒๐๐ ปีที่ผ่านมาเมื่อครั้งอพยพมาตั้งกถิ่นฐานในเมืองลำพูนเกือบทั้งหมดจะสร้างเป็นเรือนสะระไน หลังคาใช้โครงสร้างมุงด้วยกระเบื้องว่าว และบริเวณมุมยอดจั่วประดับด้วยสะระไนทั้งสิ้น ความงามของสะระไนที่แกะสลักลวดลายอย่างวิจิตรสามารถใช้เป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมของคหบดีอีกด้วย
คำกล่าวที่ว่า “เอกลักษณ์ของเรือนพื้นถิ่นเชียงใหม่คือกาแล”เป็นที่คุ้นหูคนทั่วไปและคงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่า “เอกลักษณ์ของเรือนโบราณในลำพูน (เฮือนบะเก่าจาวยอง)ก็คือเรือนสะระไนย”เช่นเดียวกัน