“หน้าบันพระวิหารคตวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร” เป็นผลงานของพระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) ที่ทำขึ้นใหม่ โดยมีขุนศรีวังยศ (ขันธ์ เกิดแสงสี) เป็นแม่กองคุมงาน และเป็นผู้คิดแบบในการก่อสร้างครั้งนี้
ลักษณะหน้าบันประดับด้วยลายจำหลักรูปเครือเถามีเลข ๕ ไทย วางพาดเหนือพระขรรค์ที่วางบนพาน อยู่ใต้พระมหาพิชัยมงกุฎเบื้องบนเป็นแฉกรัศมี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หมายถึง รัชกาลที่ 5 ประดิษฐ์ช่อชัยพฤกษ์มาลา ดังปรากฏที่หน้าบันพระวิหาร แต่มีหน้าบันหนึ่งอยู่ทางด้านกำแพงหน้าวัด ติดถนนพงษ์สุริยา มีเลข ๕ ที่วางอยู่บนพานเขียนกลับด้านหน้าเป็นด้านหลัง ซึ่งขุนศรีวังยศ (ขันธ์ เกิดแสงสี) คงต้องการถวายความอาลัยระลึกถึงพระองค์ท่านว่าคงมิได้เสด็จฯ มายังวัดใหญ่อีกแล้ว เพราะหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ วัดใหญ่ครั้งสุดท้ายและเสด็จกลับไปแล้ว 1 ปี ก็เสด็จสวรรคต
“หน้าบันพระวิหารคด วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร” นับเป็นสถาปัตยกรรมที่เตือนให้ชาวเพชรบุรี ได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งช่างได้ถ่ายทอดลงบนผลงานที่แสดงออกถึงความรู้สึกแทนคำพูด และยังบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับวัดใหญ่สุวรรณารามไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานพระราชทรัพย์ และเสด็จพระราชดำเนินมาหลายครั้ง สิ่งที่นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สุดต่อวัดใหญ่สุวรรณาราม คือ ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศให้วัดใหญ่สุวรรณารามเป็นพระอารามหลวง ตั้งแต่ ร.ศ.128 (พ.ศ.2452)
ที่มาของข้อมูล
- ราชภัฎเพชรบุรี, มหาวิทยาลัย. คณะครุศาสตร์. (2549)วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหารและวัดพระพุทธไสยาสน์(วัดพระนอน). (เอกสารโครงการอาสาพัฒนาวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรีในโครงการตามยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดเพชรบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549).
- วิชาการ, กรม. กระทรวงศึกษาธิการ. (2536).เพชรในเพชรบุรี. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.