ไม่มีรายละเอียดแน่ชัด ทราบจากพระนิพนธ์นิทานโบราณคดี ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) เป็นคนจันทบุรี ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์มาก่อน ได้มีความรู้ ระเบียบแบบแผน ธรรมเนียมราชสำนัก และรู้จักข้าราชการผ่ายต่าง ๆ ได้ดี
ต่อมาลาออกไปค้าขายที่เมืองเหนือ เจ้าพระยาสุรสีหวิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกไปพบเข้าเห็นหน่วยก้านดีจึงชวนเข้ารับราชการ ได้เลื่อนชั้นขึ้นตามลำดับจนได้เป็น พระสีหสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองอุตรดิตถ์
เมื่อ พ.ศ. 2445 เกิดขบถเงี้ยวที่เมืองแพร่ ขบถสามารถยึดเมืองแพร่ได้ และรวบรวมกำลังยกไปตีหัวเมืองเหนืออื่น ๆ เช่น น่าน อุตรดิตถ์ สวรรคโลก ในขณะนั้นเจ้าพระยาสุรสีหวิสิษฐศักดิ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกไม่อยู่ ไปช่วยราชการที่กรุงเทพฯ จึงสั่งให้หัวเมืองเหนือยกกำลังไปปราบเงี้ยวที่เมืองแพร่ พระสีหสงคราม เจ้าเมืองอุตรดิตถ์รบป้องกันเมืองอุตรดิตถ์ไว้เป็นสามารถ จึงได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร และต่อมาเมื่อเจ้าพระยาสุรสีหวิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) สมุเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกย้ายไปเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ท่านได้เลื่อนขึ้นเป็น สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกแทน
เมื่อเกิดกรณีพิพาทฝรั่งเศส - ไทย พ.ศ. 2436 และไทยยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสไปแล้ว แต่ฝรั่งเศสยังคุกคามไทยด้วยประการต่าง ๆ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงได้ทรงจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ใหม่ ยกเลิกตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ พระองค์เจ้าวัฒนานุคุณ (ม.จ. วัฒนา รองทรง) ข้าหลวงต่าง พระองค์สำเร็จราชการมณฑลอุดร เสด็จกลับกรุงเทพฯ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า มณฑลอุดรสำคัญกว่ามณฑลพิษณุโลก เพราะมณฑลอุดรอยู่ติดชายแดนลาว ของฝรั่งเศส จึงให้พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร นับเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรคนแรก
การรับราชการ เริ่มรับราชการด้วยการถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ แล้วลาออกไปค้าขายที่เมืองเหนือ ต่อมาเจ้าพระยาสุรสีหวิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ให้เข้ารับราชการด้วย จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระสีหสงคราม เจ้าเมืองอุตรดิตถ์ พ.ศ. 2445 เกิดขบถเงี้ยวเมืองแพร่ ได้รวบรวมกำลังไพร่พลต่อสู้ป้องกันเมืองอุตรดิตถ์จากขบถได้พ้น ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ต่อมาได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกแทนเจ้าพระยาสุรสีหวิสิษฐศักดิ์ พ.ศ. 2449 - 2454 ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร
ความเชียวชาญ
พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ได้จัดระเบียบการปกครองมณฑลอุดรด้วยดี มีความสงบเรียบร้อยและสามารถประสานสัมพันธ์กับฝรั่งเศสได้เรียบร้อย ในกรณีที่ญวนอพยพซึ่งต่อต้านฝรั่งเศส ได้เข้ามาอยู่ที่มณฑลอุดร พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรเลี้ยงดูญวนนั้นอย่างใกล้ชิด เป็นเหตุให้ฝ่ายฝรั่งเศสเข้าใจว่าไทยสนับสนุนญวน แต่ท่านได้ทำความเข้าใจกับฝรั่งเศสได้ และท่านเป็นที่ยอมรับของชาวต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อกับไทย
ได้สร้างวัดขึ้น 1 วัดที่หัวหนองนาเกลือ (หนองประจักษ์ศิลปาคม ปัจจุบัน) ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อให้ประชาชนละแวกนั้นได้มีที่บำเพ็ญกุศล เพราะเมืองอุดรมีวัดมัชฌิมาวาสวัดเดียว ท่านได้ขอพระราชทานนามวัดจากสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ได้ประทานนามว่า “วัดโพธิสมภรณ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ผู้สร้าง และได้เป็นวัดธรรมยุตนิกายแห่งแรกของเมืองอุดรคู่กับวัดมัชฌิมาวาส ฝ่ายมหานิกาย
ท่านได้ตัดถนนจากวัดโพธิสมภรณ์ลงไปทางด้านทิศใต้ เพื่อให้การสัญจรของชาวเมืองไปมาค้าขายได้สะดวก เรียกว่า “ถนนโพธิ์ศรี” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นามของท่าน พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรจนปี พ.ศ. 2454 จึงได้ถึงแก่อนิจจกรรม